กรมชลประทาน ยืนยันน้ำในเขตชลประทาน เพียงพอใช้ไปจนถึง ก.ค. 62

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า จากสัญญาณภัยแล้งปีนี้ ที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจลากยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ภัยแล้งน่าจะสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม รวมถึงแนวโน้มภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ซึ่งผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจยาวนานขึ้นอีก 2 เดือน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท หากภัยแล้งลากยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมประมาณ 17,300 ล้านบาท
 
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้จัดลำดับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานทุกกิจกรรมตลอดช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ การอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม การเกษตร และการอุตสาหกรรม
 
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน(ณ 17 พ.ค. 62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 40,808 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 16,800 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน ถึงแม้ว่าในช่วงสิ้นสุดฤดูฝนในปี 2561 ที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำบางแห่งจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างและปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 2561/62 ในปริมาณที่จำกัด แต่กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด
 
โดยการกำหนดมาตรการบริหารจัดการแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/62 ได้ และมีปริมาณน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ อย่างเพียงพอใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 ส่วนอีกพื้นที่ จะเป็นพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะพืชใช้น้ำน้อย(พืชไร่-พืชผัก)เท่านั้น ซึ่งก็มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 เช่นกัน
 
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศการเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20พฤษภาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงของฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีการกระจายของฝนไม่สม่ำและมีปริมาณน้อย อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งขอให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย