สินค้าเกษตรไทยยังเนื้อหอม! มกอช.เร่งออกมาตรฐานดันส่งออก ชี้ปีทอง’ทุเรียน’

สินค้าเกษตรไทยยังเนื้อหอม! มกอช.เร่งเครื่องออกมาตรฐานดันส่งออก ชี้ปีทองแปลงใหญ่ทุเรียนภาคตะวันออก คาดมูลค่ารวมทั้งปี’62 ไม่ต่ำกว่า 1.86 ล้านล้านบาท

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก ในปี 2561 ที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร 1.12 ล้านล้านบาท ส่วนสินค้าเกษตรไทยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 62 เพิ่มอีก 7.42 แสนล้านบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องและขยายตลาดส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 นี้มกอช.จึงมีแผนเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้เป็นมาตรฐานระดับสากลมากขึ้น อาทิ เร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมีการประกาศใช้มาตรฐานอาเซียนไปแล้ว จำนวน 51 เรื่อง

นอกจากนี้มกอช.ยังร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเร่งผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรของอาเซียนให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศหรือมาตรฐานโลก โดยมุ่งให้ Codex, OIE และ IPPC ยอมรับในมาตรฐานต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้กับประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกได้อีกทางหนึ่ง โดยคาดหวังว่าจะส่งผลดีต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาว ตลอดจนเพื่อให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นในตลาดโลกโดย ล่าสุดได้ทำสำเร็จในสินค้าหลายชนิดมาแล้ว อาทิ เงาะ ลองกอง กะทิ น้ำปลา รวมทั้งในการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ (CCPFV) ที่ไทยเป็นประธานในการยกร่างมาตรฐาน มกอช. มีแผนที่จะผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องลำไยอบแห้ง ให้เป็นส่วนหนึ่งของภาคผนวกในร่างมาตรฐานผลไม้แห้งของ Codex เนื่องจากปัจจุบันสินค้าลำไยอบแห้งมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซี่งสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายล้านบาท และยังช่วยรองรับผลผลิตลำไยสดที่มีปริมาณมากในฤดูกาลผลิตทั่วประเทศอีกด้วย

นอกจากการเข้าร่วมกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับระหว่างประเทศแล้ว มกอช.ยังได้เข้าร่วมการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาค ได้แก่ อาเซียน ผ่านทางคณะทำงานชุดต่างๆ ภายใต้รัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้ หรือ AMAFF และร่วมเจรจาเพื่อผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย หรือ มกษ.ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน Codex ให้เป็นมาตรฐานอาเซียน จนสำเร็จ อาทิ 1. มาตรฐานพืชสวนและพืชอาหารมีการประกาศเป็นมาตรฐานอาเซียนแล้ว 34 เรื่อง

2. มาตรฐานปริมาณสารพิษตกค้าง (MRL) มีการกำหนดค่า ASEAN-MRL ของสารพิษตกค้าง ได้มากกว่า 800 ชนิด ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน Codex

3. มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ ASEAN GAP ครอบคลุม 3 กลุ่มสินค้า คือ ผักและผลไม้สด ประกาศเป็นมาตรฐานอาเซียนเมื่อปี 2549 สัตว์น้ำ(กุ้ง) หรือ ASEAN Shrimp GAP ประกาศเป็นมาตรฐานอาเซียนเมื่อปี 2554 โดยประเทศไทยเป็นแกนนำในการยกร่าง สำหรับมาตรฐานด้านปศุสัตว์ อยู่ระหว่างดำเนินการ

และ4. มาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของอาเซียน ภายใต้คณะทำงาน ACCSQ Prepared Foodstuff Product Working Group ได้มีการปรับประสานมาตรฐานด้านระบบ การผลิต และระบบการตรวจสอบรับรอง รวมถึงมาตรฐาน ด้านความปลอดภัยอาหาร ในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ระบบการ ควบคุมความปลอดภัยอาหาร 3 เรื่อง คือ สุขลักษณะอาหาร ฉลาก และระบบการควบคุมอาหารของประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2562 มกอช.ยังมีแผนการเจรจาการค้าในหลายเรื่อง อาทิ การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ตุรกี ครั้งที่ 6 ในเดือนสิงหาคม 2562 ในประเทศไทย การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหารระหว่างไทย – ออสเตรเลีย (SPS Expert Group) ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต การเจรจาข้อบทว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ภายใต้กรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรป การประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ฮังการี-ไทย ครั้งที่ ๗ (7th Meeting of the Hungary-Thailand Joint Agricultural Working Group: JAWG) ตั้งแต่วันที่ 5-6 มิถุนายนนี่ณ กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการีและการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-ยูเรเซีย ครั้งที่ 1 เป็นต้น

ส่วนด้านนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร นับตั้งแต่ปี 2556 – 2561 มกอช. ได้แจ้งเวียนมาตรการ SPS ให้แก่ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกจำนวนทั้งสิ้น 55 ฉบับ ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ 9 เรื่องได้แก่ (1) มาตรฐานบังคับ เรื่อง ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทออกซินในเมล็ดถั่วลิสง

(2) มาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาว

(3) มาตรฐานบังคับ เรื่อง กระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ได้ออกไซด์

(4) มาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง

(5) มาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ

(6) ร่างมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่

(7) มาตรฐานเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง

(8) มาตรฐานเรื่องอาหารที่มีสารปนเปื้อน

และ(9) ร่างมาตรฐาน เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) เป็นต้น

“มกอช.ยังมีแผนเดินทางไปแสดงนิทรรศการสร้างการรับรู้ในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยอาหาร รวมทั้งเครื่องหมายรับรองสินค้าเกษตรของไทย (Q และ Organic Thailand) ในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเสริมสร้างภาพลักษณ์ “สินค้าไทยสู่ตลาดโลก” สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านมาตรฐานและความปลอดภัยอาหารในระดับสากลของ มกอช. ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสนับสนุนการขยายตลาดผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2562นี้อีกด้วย”

สำหรับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่นั้นได้พัฒนากลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม ผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP พร้อมตรวจสอบย้อนผ่าน QR Code มุ่งสร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภค ขณะที่ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม ซึ่งการผลิตทุเรียน GAP ช่วยยกระดับราคาสูงขึ้น โดยล่าสุดได้ดำเนินการโครงการพัฒนาส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนโซนภาคตะวันออกเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP พืชอาหาร) ปี 2562 ตามนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

โดยมกอช. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออก มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปลูกทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) สามารถผลิตทุเรียนได้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความต้องการทุเรียนคุณภาพอีกมาก อีกทั้งสามารถส่งวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560) ซึ่งคาดว่าปีนี้ยังคงเป็นปีทองส่งออกของทุเรียน และมังคุด ไปยังตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกันส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q ระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) และระบบการจับคู่ธุรกิจขยายตลาดสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ (DGT-Farm) ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถผลิตทุเรียนได้มีคุณภาพมีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาด และผู้บริโภค นอกจากนี้ ได้ประสานกรมวิชาการเกษตร ให้การรับรองมาตรฐาน GAPพืชอาหาร กับเกษตรกรที่ผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้น ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด ถือเป็นกลุ่มฯ ต้นแบบที่ผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP พืชอาหารของจังหวัดตราด ปัจจุบันมีสมาชิก 40 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียน 532 ไร่ ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี และกระดุม เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ ปี 2561 เพื่อผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปสู่แหล่งผลิตด้วย QR Code เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

ด้าน นายเรือง ศรีนาราง ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม กล่าวว่า การรวมกลุ่มฯ เกิดขึ้น เพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิต โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมให้ความรู้ ทั้งด้านวิชาการ การทำบัญชี การผลิตปุ๋ยใช้เอง และได้รับความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อช่วยกันคิดช่วยกันทำจนประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้สมาชิกกลุ่มฯ 40 คน ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เกือบทั้งหมดแล้ว


​“การเข้าสู่กระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP ในช่วงแรกๆ อาจจะติดขัดบ้าง แต่ทำจนชิน และติดเป็นนิสัย ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทำให้ผลผลิตทุเรียนของเรามีคุณภาพ เพื่อป้อนตลาด ทั้งตลาดในประเทศ โดยเฉพาะจีน และตลาดส่งออก รวมทั้งช่วยยกระดับราคาที่สูงขึ้นไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา”