ไม่หวั่นน้ำตาลตลาดโลกขาลง “มิตรผล-ไทยรุ่งเรือง” ผุด 2 โรงงานใหม่

สอน.ไฟเขียว มิตรผล-ไทยรุ่งเรืองผุด 2 โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ เตรียมออกใบรับรองตั้งโรงงานให้ GGC-KTIS ตั้งนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ไม่หวั่นตลาดโลกซบหลังผลิตอ้อยทะลัก ดัน “สต๊อกค้าง” 178 ล้านตัน ทุบราคาโลกดิ่งเหลือ 11 เซนต์/ปอนด์

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเอกชน 2 รายยื่นขออนุญาตเปิดโรงงานน้ำตาลใหม่ 2 แห่ง คือ บริษัท มิตรผล จำกัด ผู้ผลิตน้ำตาลมิตรผล เปิดที่ จ.อำนาจเจริญ และบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตน้ำตาลลิน ตั้งที่ จ.สกลนคร ภายในปี 2562 ส่งผลให้ไทยมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 54 เป็น 56 โรง

นอกจากนี้ยังเตรียมออกใบรับรองตั้งโรงงานให้กับโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในเครือ ปตท. และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ที่พร้อมลงทุน 7,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตัน/วัน และสร้างโรงผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตร/วัน หรือประมาณ 186 ล้านลิตร/ปี และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม มีโรงงานที่ใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน (รง.4) กำลังจะหมดอายุ และไม่สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลได้ทันตามกำหนดเงื่อนไขประกอบกิจการภายในปี 2563 จำนวน 2 โรง ที่นครสวรรค์ และพะเยาหรือเชียงราย เนื่องจากพิจารณาสถานการณ์ตลาดแล้วยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งหากจะตั้งโรงงานใหม่หลังจากนี้ต้องขออนุญาตใหม่อีกครั้ง

วรวรรณ ชิตอรุณ

ส่วนกรณีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย…(ฉบับใหม่) ล่าช้า ไม่ส่งผลกระทบต่อการตั้งโรงงานเอทานอล และสินค้าอื่น ๆ ที่ได้จากอ้อย เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศภายใต้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ (ที่ไม่ใช่โรงงานน้ำตาล) ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่…) พ.ศ.

…ระยะห่างภายใน 50 กม.ของโรงงานเดิมได้ มีเพียงเงื่อนไขเดียว คือ ต้องได้รับการอนุมัติจากโรงงานน้ำตาลเดิมเท่านั้น ซึ่งการยินยอมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการอนุญาตตั้งโรงงาน ภายใต้แผนส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioecono-my)

นางวรวรรณกล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลว่า ขณะนี้น่ากังวล เนื่องจากราคาอยู่จุดต่ำสุดร่วงมาอยู่ที่ 11 เซนต์/ปอนด์ และมีแนวโน้มอาจลดลงอีก เนื่องจากปีที่แล้วอากาศไม่ได้แล้งทำให้ปริมาณผลผลิตที่แท้จริงของอินเดียและไทยสูงเกินกว่าคาดการณ์ โดยไทยหีบอ้อย 130 ล้านตัน บวกค่าความหวานที่สูง และโรงงานพัฒนาประสิทธิภาพทำให้ได้น้ำตาลกว่า 14 ล้านตัน ส่งออก 12 ล้านตัน บริโภค 2.6 ล้านตัน เหลือสต๊อก

“ด้วยราคาน้ำตาลที่ลดต่ำทำให้ไม่มีใครอยากขายน้ำตาลขาดทุน ส่งผลให้เหลือสต๊อกคงค้างในโกดังล้น ขณะนี้มีการเซ็นเพิ่มจำนวนโกดังเช่ามากขึ้น จึงต้องมาขายด้วยราคาพรีเมี่ยม เช่นเดียวกับอินเดียที่น้ำตาลค้างสต๊อกเมื่อปีที่แล้วถึง 3 ล้านตันยังไม่มีการขาย และปีนี้ผลิตเพิ่มอีก คาดว่าจะเกินอีก 3 ล้านตัน ทั่วโลกจึงโทษว่าเป็นเพราะไทยและอินเดียกดราคาตลาดตก”

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าฤดูการผลิต 2562/2563 จะมีการลดกำลังการผลิต เพื่อระบายสต๊อกที่ค้างอยู่ออกให้หมด ด้วยภาวะภัยแล้งของปีนี้ บวกกับราคาพืชชนิดอื่นที่สูงกว่าอ้อยราคาตกต่ำมา 3-4 ปี นับจากตั้งแต่ไร่ละ 1,000 บาท เหลือ 800 จนในปีนี้อาจไม่ถึง 700 บาท ส่งผลให้เกษตกรอาจปรับไปปลูกมันสำปะหลังแทน

“โดยในวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ประชุมกับคณะกรรมการนโยบายขาย เพื่อประมูลน้ำตาลพรีเมี่ยมไว้ก่อนรอบของเดือน พ.ค.และ ก.ค.ที่เหลืออยู่ โดยมีเป้าจะต้องทำราคาได้เท่ากับราคาคำนวณขั้นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยจีน และอินโดนีเซียยังขาดน้ำตาล บวกกับไทยลดการผลิตจะทำให้ตลาดกลับมาสมดุลปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่กำลังปรับสูงขึ้น ทางบราซิลยังต้องการนำอ้อยไปทำเอทานอลสูงถึง 55% แทนน้ำตาล ณ เวลานั้นจะกลับไปอยู่ที่ 15 เซนต์/ปอนด์ เป็นราคาที่อยู่ได้ของผู้ผลิตทั่วโลก”

 

มาตรา 44 หมดอายุ ลุ้น “ลอยตัวน้ำตาล” ต่อ

ตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ (ประกาศยกเลิกระบบโควตาให้ลอยตัวราคาน้ำตาลทราย) ซึ่งออกมาตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 กำลังจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2562 นี้

ล่าสุด นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า 3 สมาคมน้ำตาลทราย ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เพื่อขอทราบความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายด้านอ้อยและน้ำตาล ภายหลังประกาศ คสช.หมดอายุ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูกาลต่อไป ซึ่งจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้

“เอกชนยังไม่แน่ใจว่าหลังจากประกาศ คสช.หมดอายุลงจะต้องกลับไปใช้กฎหมายเดิม กลับไปมีโควตาหรือไม่ ผู้ผลิตจะต้องวางแผนการผลิตอย่างไร ประกอบกับไทยต้องเตรียมตอบคำถามบราซิลต่อเรื่องระบบนี้ หากจำเป็นต้องรอรัฐบาลใหม่ และต้องรอแต่งตั้งกรรมการ กอน.คนใหม่แทนรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่ลาออก หากไม่สามารถแก้ไขกฎหมายทันเวลา ทาง คสช.จะต่ออายุประกาศต่อไปอีก 2 ปี หรือไม่อย่างไร”

ต่อประเด็นนี้ นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า จะต้องเร่งหารือรัฐบาลเพื่อเสนอให้พิจารณาต่อคำสั่ง ม.44 ที่ได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล เพื่อให้ไทยยังคงใช้การลอยตัวราคาน้ำตาลต่อไป ไม่ให้เกิดผลกระทบ กรณีทางบราซิลพยายามฟ้องไทยกับองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยเหตุผลการอุดหนุนทำให้กลไกราคาตลาดโลกไม่สะท้อนความจริง โดยคาดว่าแนวทางการขอต่ออายุ ม.44 จะเปลี่ยนเป็นการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาออกโดยรัฐบาล

ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย…(ฉบับใหม่) ที่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วนั้น ได้นำเข้ากฤษฎีกาพิจารณา แต่มีการแก้ไขในหลายมาตรา จึงให้ สอน.นำกลับมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ และยกเลิก พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเก่า พ.ศ. 2527 โดยขณะนี้จำเป็นต้องรอให้มีการจัดตั้งและประชุมรัฐสภาใหม่จึงจะสามารถดำเนินการต่อเนื่องอีกครั้ง

ทั้งนี้ ภายหลังจากประชาพิจารณ์ยังมีชาวไร่อ้อยไม่เห็นด้วยเรื่องสหกรณ์ และการให้สิทธิพิเศษกับชาวไร่อ้อยบางกลุ่ม


“เราต้องคุยกับ รมว.คนใหม่ ว่าเรามีสัญญากับทางบราซิลว่าต้องแก้กฎหมายให้เสร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว หากเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่แล้ว พิจารณาเห็นชอบตามมติ ครม.เดิม ก็สามารถเสนอกฤษฎีกาพิจารณาที่เหลืออีกบางส่วน และเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาต่อทันที ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน แต่หากมีการแก้ไขร่าง ก็ต้องทำประชาพิจารณ์ใหม่ ถึงจะช้าแต่ต้องพยายามเร่งให้เร็วที่สุด เพื่อให้เสร็จทันปี 2562 นี้”