เทรดวอร์ฉุดส่งออกเหลือ 0-1% เตือนรัฐสกรีนโรงงานจีนย้ายฐานมาผลิตส่งออก ทำไทยเกินดุลสหรัฐ ถูกสกัดการค้าชะตาเดียวกันซ้ำอีก

สงครามการค้าลามหนัก “ส.อ.ท.” คาดส่งออกปี’62 ลดฮวบเหลือ 0-1% ประชุม กกร. เดือน มิ.ย. คาดปรับ GDP ลงแน่ แนะรัฐตั้งศูนย์เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ หวั่นจีนย้ายฐานมาไทยเทคโนโลยีต่ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสวมสิทธิผลิตส่งออกสหรัฐฯทำให้เกินดุลการค้า อาจเสี่ยงต่อที่สหรัฐฯ กีดกันทางการค้ากับไทยรายต่อไป ด้าน Exim Bank หนุนขยายตลาดใหม่ไป CLMV ลดดอกเบี้ยปีแรก 0.5% ต่อปี สำหรับสินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้า ให้สมาชิก ส.อ.ท.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน ว่าสงครามการค้าครั้งนี้คือของจริงไม่ใช่การขู่ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ดังนั้นในส่วนของ ส.อ.ท. จึงคาดว่าปี 2562 นี้ ส่งออกของไทยจะปรับตัวลดลงเหลือ 0-1% จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 3-5% ขณะที่ GDP จะอยู่ที่ 3.4-3.5% และหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด ที่มีมูลค่า 320,000 ล้านบาท จะยิ่งฉุดให้ส่งออกต่ำกว่า 0% แน่นอน
โดยการรับมือในขณะนี้ เอกชนขอให้ทางรัฐบาลรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง ร่วมกันกับเอกชนเพื่อตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ (War room) ขึ้นมาโดยเร็วที่สุด เพื่อทำหน้าที่แก้ไข ช่วยเหลือรายอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไร
ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านการลงทุน จำเป็นต้องวางแผนการลงทุนใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีสิทธิประโยชน์และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ เช่น เลือกใช้สิทธิภายใต้ พ.ร.บ.EEC ก็ทำให้ยอดลงทุนบีโอไอลดลง เป็นต้น

ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปจีน 12% ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากึ่งวัตถุดิบ ชิ้นส่วนเพื่อประกอบส่งออก และใช้ในประเทศ และมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ 10% ส่งออกไปอาเซียน 25%

“ซึ่งในเดือน มิ.ย.นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.​) จะพิจารณาปรับคาดการณ์ส่งออก และ GDP ประเทศ ตามสภาพข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งผลกระทบแน่นอนว่ามีทั้งบวกและลบ เบื้องต้นที่กระทบคือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนไฟฟ้า และวัตถุดิบ ซึ่งเราจะเห็นการส่งออกไทยลดลงอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปี 2561 สิ่งที่เรากังวลคือสิ่งที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กว่า 5,000 รายการ นั่นคือสิ่งที่ไทยผลิตไปจีนนั่นเอง”

แต่ในเชิงบวกสินค้าบางประเภทที่สหรัฐฯส่งออกไปจีน อย่างสินค้าเกษตร เนื้อสัตว์ ผลไม้ ข้าว ถั่ว ไทยจะได้อานิสงส์ที่หันกลับมาซื้อสินค้าเหล่านี้จากไทยมากขึ้น และยังจะเห็นการย้ายฐานการผลิตมายังไทย ด้วยไทยมี EEC และอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve จึงเป็นที่ดึงดูดนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานมาลงทุนของจีน ไทยก็ต้องระวังเรื่องของเทคโนโลยีไม่ได้มาตรฐาน จะมีผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะเป้าหมายไทยต้องการเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นรัฐบาลไทย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการลงทุนจะต้องระมัดระวังดูแลไม่ให้การย้ายฐานการผลิตของจีนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสวมสิทธิผลิตสินค้าส่งออกไปขายสหรัฐฯ ต้องมีไม่มากจนเกินไป เพราะสหรัฐฯอาจพิจารณาตอบโต้ทางการค้ากับไทยได้ หากลำดับของไทยมีดุลการค้าที่มากขึ้น จึงเสี่ยงที่ไทยจะถูกกีดกันการค้าเช่นเดียวกับจีน เพราะปัจจุบันประเทศไทย มีการส่งสินค้าไปขายสหรัฐมากกว่านำเข้า ไทยจึงได้ดุลการค้ากับสหรัฐ (เกินดุล) อยู่แล้วและมากเป็นอันดับที่ 11-12

“ปัจจุบันจีนเข้ามีการทยอยเข้ามาไทยด้วย 3 ช่องทาง คือ 1.นำเข้าเพื่อทดแทนการผลิต 2.ผ่านด่านชายแดน 3.ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น อาลีบาบา Shopee เป็นโอกาสของจีนที่จะใช้สิทธิ

ทั้งนี้ เอกชนขอให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ไทยแพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่ขณะนี้ได้เปรียบทางการค้า เพราะอยู่ในกลุ่ม “CPTPP” หรือข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกกับสหรัฐ และยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหภาพยุโรปด้วย

ล่าสุดจากกรณีที่บริษัท ARM ของอังกฤษผู้ถือหุ้นใหญ่คือซอฟแบงก์ญี่ปุ่นประกาศว่า จะไม่ออกแบบและผลิตชิปที่ทันสมัยให้กับ “HUAWEI” เป็นการตอบโต้ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตชะงัก สงครามการค้าส่งผลต่อบรรยากาศทางการค้าลดลง ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตก็ได้รับผลกระทบแน่นอน และเพื่อรับมือกับสงครามการค้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาช่องทางตลาดใหม่ เช่นกลุ่ม CLMV

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) กล่าวว่า Exim Bank และ ส.อ.ท.จะร่วมบูรณาการข้อมูลด้านการค้าและการลงทุน การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงการจัดอบรมส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และการสนับสนุนทางการเงิน
โดยได้เสนอสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่สมาชิกของ ส.อ.ท. ที่ได้รับการแนะนำหรือเข้าร่วมกิจกรรมของ ส.อ.ท. จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.5% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยปกติที่ลูกค้าได้รับสำหรับสินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้า และสินเชื่อเพื่อการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรายที่ต้องการเปิดหาตลาดใหม่