พาณิชย์สุรินทร์จัดตลาดนัดข้าวเปลือกหอมมะลิ พ่อค้าให้ราคาดีสูงกว่าราคาตลาด 300-400 บาทต่อตัน

“พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์”จัด “ตลาดนัดข้าวเปลือก” นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากเกษตรกรถึงที่ ให้ราคาสูงกว่าตลาดตันละ 200-400 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงไถ่ถอนข้าวเปลือกที่นำไปฝากเก็บในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว

นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับกรมการค้าภายใน สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.และชมรมโรงสีข้าวสุรินทร์จัดโครงการ “ตลาดนัดข้าวเปลือก” โดยได้จัดหาผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกเข้าไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคานำตลาดตันละ 200-400 บาท ซึ่งในปี 2562 นี้ ได้กำหนดจัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก วันที่ 22-24 พ.ค.2562 ที่ สกต.รัตนบุรี และครั้งที่ 2 กำหนดจัดวันที่ 28-30 พ.ค.2562 ที่ สกต..ศีขรภูมิ

“การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ให้มีตลาดขายข้าว โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลสถานที่ตั้งของโรงสีที่รับซื้อข้าว เพราะขณะนี้ เป็นช่วงที่เกษตรกรได้ไปไถ่ถอนข้าวเปลือกหอมมะลิที่ฝากเก็บไว้ในโครงสินเชื่อชะลอการขายข้าวกับธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีประมาณมากถึง 2.7 แสนตัน ให้มีตลาดรองรับ โดยเกษตรกรที่ไถ่ถอนข้าวออกมา แล้วนำมาขาย ไม่เพียงแต่ได้ราคาข้าวสูงกว่าราคาตลาด 200-400 บาทต่อตัน ยังจะได้รับส่วนต่างของข้าวที่ไถ่ถอนด้วย เพราะที่ไปฝากเก็บไว้ประมาณตันละ 11,800 บาท แต่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในตลาดนัดข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละประมาณ 15,600-16,500 บาท”

ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานชั่งตวงวัด เข้าไปดูแลและช่วยเหลือ เกษตรกรที่นำข้าวเปลือกหอมมะลิมาจำหน่าย โดยได้ดูแลให้มีความถูกต้องเที่ยงตรง ทั้งการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้น และการหักสิ่งเจือปน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในการขายข้าว และยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้าใจลักษณะตลาดและคุณภาพข้าว ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของตลาดในอนาคต

สำหรับโครงการตลาดนัดข้าวเปลือก เป็นโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ด้วยการจัดหาผู้ประกอบการเข้ารับซื้อข้าวเปลือกถึงแหล่งผลิต เพื่อให้เกิดการแข่งขันและมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการรับซื้อ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมในจำหน่ายข้าวเปลือก และช่วยผลักดันให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น