ปรียนาถ สุนทรวาทะ B.GRIM ผงาดซื้อ Glow SPP 1

สัมภาษณ์

ท่ามกลางกระแส Technology disruption ในอุตสาหกรรมพลังงาน-ไฟฟ้า การปรับเปลี่ยนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) เป็นแรงผลักดันให้เอกชนผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าเดินหน้า

กลยุทธ์ต่าง ๆ ยืนหยัดธุรกิจต่อไป “นางปรียนาถ สุนทรวาทะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการปรับตัวรับแผน PDP 2018 ตลอดจนกลยุทธ์เพื่อรักษาความแข็งแกร่งในฐานะเจ้าตลาดผู้มีจำนวนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP สูงสุดของประเทศ และการตัดสินใจเข้าซื้อ Glow SPP 1

หลังซื้อ Glow SPP Q1

เหตุที่ไตรมาสแรกกำไร 101% เป็นกำไรที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากซื้อโกลว์รายได้เข้ามาทันที 3,300 ล้านบาท สะท้อนกำไรที่สูงขึ้น 10% ประมาณ 300 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งจากการรับรู้รายได้การดำเนินงานช่วงไตรมาส 4 (ปลายปี 2561) จากโรงไฟฟ้าใหม่ อาทิ อมตะซิตี้ ระยอง 4-5 สร้างเสร็จปลายปี รายได้จึงมารวมที่ไตรมาส 1 ค่อนข้างมาก ดังนั้น แนวโน้มไตรมาส 2 จะดีขึ้นต่อเนื่องจากโกลว์ และเริ่มขายไฟ (COD) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนาม 2 โรง 677 เมกะวัตต์ ซึ่งจะ COD วันที่ 20 มิถุนายน และโรงไฟฟ้าน้ำแจ ที่ สปป.ลาว อีก 15 เมกะวัตต์ (MW)

รายได้ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 36,600 ล้านบาท ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 46,000 ล้านบาท กำไรเติบโตขึ้นตามสัดส่วน ที่สำคัญคือจำนวนกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 40% ตอนนี้มี 2,076 เมกะวัตต์ ปีหน้า 2,896 MW เฉพาะที่เซ็นสัญญายังไม่นับรวมโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษา

โอกาสลงทุนเวียดนามเพิ่ม

ก็มีอีกกำลังศึกษาหลายด้าน เช่น พลังงานลม เป็นโอกาสเพราะความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จีดีพีโต 5-6% ทุกปี ภาคอุตสาหกรรมขยายเยอะ การเมืองเขานิ่ง มีคนรุ่นใหม่ที่มีภาษาอังกฤษดี แนวโน้มความต้องการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทางใต้ไฟไม่พอความเจริญมาพยายามศึกษาเพิ่ม คือ ใช้พลังก๊าซ ส่วนทางเหนือมีผลิตจากไฮโดรเป็นหลักแต่พอหน้าแล้งก็มีปัญหา

ถามว่าเสี่ยงไหม เรามีขั้นตอนกระบวนการพิจารณาความเสี่ยงอย่างเข้มข้น ที่กล้าไปเพราะเรามีโรงไฟฟ้าเวียดนามเล็ก ๆ กว่า 20 ปีแล้วที่เบียนหัว ใช้ดีเซล 15-18 MW มีลูกค้า 160 กว่าราย ใช้วิธีซื้อไฟช่วงออฟพีกราคาถูกแล้วก็ขายในช่วงพีก ได้กำไรต่อเนื่องแทบไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย เราเรียนรู้การทำธุรกิจในเวียดนาม บอกได้ว่าตอนนี้เวียดนามเปลี่ยนไปมาก ปรับกฎเกณฑ์การลงทุนเพื่อให้เรารู้สึกมั่นคงขึ้น มีประกาศ decision 2017 คุ้มครองการลงทุนจากต่างชาติ การเข้า Paris Agreememt คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การไปลงทุนก่อนทำให้ได้ทารีฟ 9.35 เซนต์ ยาว 25 ปี ส่วนคนที่ไปหลังได้แค่ 7 เซนต์ ที่สำคัญเรามีโลคอลพาร์ตเนอร์แข็งแกร่งด้วย

ลงทุนนอกผลจาก PDP 2018

ในฐานะเอกชนเราต้องปรับและยอมรับตามนโยบาย มองว่าเราเดินมาถูกทางแล้วที่ไปลงทุนต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง (diversify risk) ไม่ใช่ประเทศอื่นทุกประเทศดีกว่าไทย เพียงแต่ว่าโอกาสตอนนี้ต้องไปหาประเทศที่กำลังเติบโต เวียดนามเป็นประเทศที่นักลงทุนมองว่าควรจะไป เขามีแผนพลังงานระยะยาวคล้าย PDP บี.กริมฯสนใจสิ่งที่เขาจะทำ มอง positive ดี

สัดส่วนรายได้ในอนาคต

อีก 5 ปีเรายังมีสัดส่วนรายได้ในประเทศเยอะกว่า เพราะเรามีโรงไฟฟ้าก๊าซบายคอมบายไซเคิล และที่เราซื้อโกลว์ 2 โรงเพราะมีประสบการณ์เรื่อง SPP ทำให้มีจำนวนโรงไฟฟ้ามากที่สุด ขณะที่โรงไฟฟ้า SPP ที่หมดอายุก็สามารถต่อได้หมด 5 โรง โดยยื่นซับมิตให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (EGAT) แล้ว คาดว่าจะวางหลักทรัพย์ค้ำประกันการทำสัญญาในเดือนสิงหาคมนี้ และยังมองโอกาสจะขยายไปอื่น ๆ ที่ทำไม่ไหวอีก พื้นที่มาบตาพุดมีศักยภาพและมีโอกาสโตได้อีก

เรายังเชื่อมั่นใน business model ที่ทำก๊าซคอมบาย และอยู่ในนิคมที่เป็น distributed generation (DG) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสมาร์ทซิตี้ หรือสมาร์ทกริดคือโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ผู้ใช้ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากถ้ายังไม่มี super grid ที่ลงทุนสูง ๆ อย่างจีนแล้ว DG โรงไฟฟ้าที่ใกล้ผู้ใช้ที่สามารถเป็นไมโครกริดเองได้ อย่าง บี.กริมฯมี 5 โรงที่อมตะนคร และ 5 โรงที่อมตะซิตี้ ระยอง ลูกค้าทั้งหมดใช้ไฟจากเรา ตรงนี้ยังสามารถอัพเกรดเป็นสมาร์ทกริดได้

เพิ่มสัดส่วน Renewable

หลายบริษัทมองพลังงานหมุนเวียน (renewable) เป็นอนาคต เช่น ซีเมนส์พันธมิตรเรามองอนาคตเราก็ต้องมองตาม โลกอนาคตมองว่าเทคโนโลยีจะเป็นหัวใจในทุกเรื่อง เราทำตรงกระแสโลกพอดี ถ้าดูพอร์ตเรา หากโรงไฟฟ้าเวียดนามเสร็จ renewable จะมีสัดส่วน 33% และคอนเวนชั่นนอล 70%

อนาคตที่กำลังศึกษา renewable อยู่หลายโครงการส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศ เช่น เกาหลี เราไปตั้งบริษัทที่เกาหลี เป็นพลังงานลม มาเลเซีย กัมพูชา เขาชอบโมเดล SPP ตอนนี้เรายังอยู่ระหว่างสายส่งแต่เริ่มได้โลคอลพาร์ตเนอร์แล้ว

ส่วนลาวก็ทำตามแผน แม้หลังเขื่อนแตกบทเรียนนี้ก็มีชะลอบ้างเพราะต้องดูความเสี่ยง กฎเกณฑ์เราผ่าน ห่วงความสามารถในการชำระเงินพอเขื่อนใหญ่ชะงัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเลขแย่ลง เพราะยังมีอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ร่วมกับซานมิเกลทำรูฟท็อป

เพิ่มโซลาร์-Energy Storage

นอกจากนี้ บี.กริมฯมีโซลาร์ 1,000 เมกะวัตต์ เป็นโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อปมีสัญญาขายไฟลูกค้าแล้ว 150 เมกะวัตต์ เป็นอาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า เช่น ไอคอนสยาม มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล แนวโน้มคุณภาพแผงสูงขึ้นและราคาลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ ตอนนี้ บี.กริมฯจะลงทุนติดโซลาร์รูฟที่หลังคาโรงรถ1.2 เมกะวัตต์ เราใช้แค่ 1 เมกะวัตต์ ที่เหลือน่าจะขายคืนการไฟฟ้า

ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) โดยเพิ่งเซ็นความร่วมมือกับ LG Chem ซึ่งเราส่งคนไปเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะต่างประเทศรัฐบาลทั้งเกาหลี เวียดนาม มีมาตรการสนับสนุนการติดตั้ง energy storage ซึ่ง บี.กริมฯมีทั้ง renewable และคอนเวนชั่นนอล ต่อไปโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งประมาณ 17 โรง และโกลว์ 2 โรง อาจห้ามลูกค้าติดรูฟท็อปไม่ได้ เพราะถูกลงและแข่งขันกันลดราคา ตรงนี้ถ้าจะให้ไฟเสถียรเราก็ต้องหาโซลูชั่นทำให้เกิด smart gridจริง และเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้ง energy storage และ App เข้ามาซัพพอร์ตลูกค้า

ลุยอู่ตะเภาสู่นำเข้า LNG


หลังจากการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริดอู่ตะเภา 230 เมกะวัตต์แล้ว ในอนาคต เรามองถึงโอกาสในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ต่อไปถ้าเปิดเสรีได้จริง ๆ เราก็มีเพื่อนเยอะเลยที่มาจีบเราก็พร้อม