2 นิคมยักษ์อมตะ-WHAมาวิน นำร่องประกาศเขตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

“WHA-อมตะ” เข้าตา กรศ. เล็งนำร่องโมเดลลงทุนประกาศ “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์” EEC กำหนดพื้นที่แต่ละนิคมฯไม่ต่ำกว่า 500 ไร่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นปี 2560 จะกระตุ้นตลาดในประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้น 50% ระยะกลาง 5 ปี (2564) ยกระดับไปสู่ภาคการผลิตหุ่นยนต์ได้เอง น่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท และในอีก 10 ปี หวังให้ไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผลิตส่งออกหุ่นยนต์ สำหรับการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษา 8 แห่ง เพื่อสร้างบุคคลากรป้อนให้อุตสาหกรรมนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) หรือ EEC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่ในนิคมฯที่บริหารอยู่ใน EEC คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อพัฒนารองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ขณะเดียวกันได้หารือกับเอกชน 2 ราย คือ กลุ่มบริษัท อมตะ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง และกลุ่ม WHA ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เพื่อจัดหาพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ สำหรับเป็นโมเดลตัวอย่างรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

จากนั้นจะประกาศพื้นที่ส่วนนั้นเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ และแผนต่อไปหากนิคมฯเป้าหมายทั้งนิคมฯของอมตะ WHA และกนอ.สมบูรณ์ทั้งหมดเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์แล้ว อาจใช้รถไฟเชื่อม 3 นิคมฯหรือประกาศเป็นฟรีเทรดโซนในอนาคตจะช่วยดึงดูดลูกค้าเข้านิคมฯ และภายในปี 2561 เตรียมจัดงาน “โรบอทแฟร์” ขึ้น เพื่อดึงนักลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทั่วโลกกว่า 300 บริษัทมาแสดง รวมถึงการบริหารจัดการด้านแรงงานที่จะเข้าควบคุมหุ่นยนต์ ส่วนในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีศูนย์ซ่อมหุ่นยนต์ในประเทศขึ้นมา

นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า นิคมฯของกนอ.ใน EEC มีไม่กี่แห่ง อย่างมาบตาพุด และแหลมฉบัง ต้องไปดูว่ายังเหลือพื้นที่อีกเท่าไร จากนั้นจะมาหารือว่าสามารถพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อย่างไร

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า WHA มีความพร้อม โดยมี 12 นิคมฯ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจ.ชลบุรี และระยอง เหลือแต่ละนิคมประมาณ 2,000 ไร่ ไว้สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย(S-Curve) 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยเป้าหมายสำหรับแผนการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วน 1. ดึงนักลงทุนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯ 2. ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 5,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี เพื่อพัฒนากลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ของบริษัทให้มีการใช้ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในกระบวนการทั้งหมด

ขณะนี้ได้เริ่มเดินสเต็ปแรก โดยส่งทีมเข้าไปสำรวจนักลงทุนที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 800 บริษัทภายในนิคมฯ ถึงความต้องการพัฒนาปรับปรุงระบบการผลิต โลจิสติกส์ คลังสินค้า หากโรงงานใดต้องการวางระบบอัตโนมัติใหม่จะได้ส่งเสริมจากบีโอไอด้วย ทาง WHA จะช่วยจัดให้มีการเจรจาเชื่อมโยงธุรกิจกับนักลงทุนให้ จะนำไปสู่การเป็นซัพพลายเออร์ซึ่งกันและกัน

ปัจจุบันต่างชาติมาลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในนิคมฯส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเยอรมนี ยังมีสัดส่วนไม่มากแต่เมื่อเห็นมาตรการที่รัฐบาลออกมา และด้วยแรงกระตุ้นในระดับ mass บวก need รวมถึงภาคการผลิตมีต้นทุนที่ลดลงรายได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าจากนี้ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ สมองกล (AI) จะเกิดการลงทุนทำให้เห็นไทยเป็น 4.0 แน่นอน ดังนั้นการที่ WHA เตรียมพื้นที่ไว้รองรับยิ่งจะทำให้นักลงทุนมั่นใจ