ก้าวใหม่ “RATCH Group” โรงไฟฟ้าสู่โครงสร้างพื้นฐาน

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกาศรีแบรนดิ้ง เป็น “RATCH Group” พร้อมปรับวิสัยทัศน์ธุรกิจใหม่ แตกไลน์จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ก้าวสู่ธุรกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้น 4 ด้าน คมนาคมขนส่ง สื่อสารคมนาคม บริหารจัดการน้ำ และ internet of things (IOT) ในห้วงทศวรรษที่ 2

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH Group กล่าวถึงเหตุผลสำคัญในการปรับครั้งใหญ่ว่า จากการที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทิศทางยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) ซึ่งเพิ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้ กฟผ. และเอกชนแข่งขันกันทำโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จำนวน 8,300 เมกะวัตต์ และยังมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเข้ามา 18,176 เมกะวัตต์

เพิ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับแผนการลงทุนและเป้าหมายธุรกิจ 5 ปี ระหว่าง 2562-2566 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปี รวมประมาณ 50,000 ล้านบาท หากมีการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาทได้ โดยเตรียมเพิ่มสัดส่วนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานจาก 10% เป็น 20% ในส่วนการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขณะนี้ได้ร่วมกับพันธมิตรลงทุนรูปแบบ PPP ในโครงการรถไฟฟ้าส่วนขยายสายสีชมพูและสีเหลือง และยังสนใจการลงทุนในระบบรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และสีแดงเข้ม (บ้านภาชี-มหาชัย) รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์เส้นทาง M6 ระหว่างบางปะกง-นครราชสีมา 196 กม. และ M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี 90 กม.

พร้อมกันนี้ ล่าสุดได้ร่วมกับพันธมิตรเข้าซื้อซองทีโออาร์ร่วมประมูลจัดทำโครงการ “สมาร์ทคอมเพล็กซ์” ในโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในอีอีซี หรือ EECd อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีกำหนดเปิดยื่นซองในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

ขณะที่บริษัทได้ขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้ผลิตน้ำประปาใน สปป.ลาว นอกจากนี้ยังมีโครงการไฟเบอร์ออปติก สารสื่อสารลงดินด้วย

รักษาธุรกิจหลัก “โรงไฟฟ้า”

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรักษาสัดส่วน core business ไว้ที่ระดับ 80% โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้เฉลี่ยปีละ 700 เมกะวัตต์ หรือรวม 3,500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 6,860 เมกะวัตต์ (MW) ให้เป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566 ส่วนกลุ่มพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจากเดิม 27% ให้เป็น 50 เท่ากันในปี 2566 ด้วย โดยมีประเทศเป้าหมาย คือ ออสเตรเลีย จีน และอาเซียน ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นการลงทุนโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ โครงการพลังงานทดแทนทั้งลม แสงอาทิตย์ และน้ำ

ส่วนปีนี้มีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ที่จะเดินเครื่องและรับรู้รายได้ (COD) 179.73 เมกะวัตต์ คือ คอลลินส์วิลล์, เบิกไพรโคเจเนอเรชั่น และเซเปียน-เซน้ำน้อย ส่วนโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 489.79 เมกะวัตต์ คือ Riau, Fangchenggang II NNP, Collector Wind Farm และ NNEG Expansion

“ในประเทศบริษัทยังได้รับโอกาสจาก PDP ในการลงทุนประมูลโรงไฟฟ้า IPP ภาคตะวันตก กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์ยี่ที่จะหมดอายุในปี 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและทำสัญญาร่วมกับพันธมิตรซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในไตรมาส 2 และลงทุนโซลาร์ลอยน้ำ ตาม PDP กฟผ.ได้รับจัดสรร 2,700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ คาดว่าภาพรวมรายได้ในปีนี้จะขยายตัวตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/62 มีรายได้ 4,043.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% บริษัทมีสินทรัพย์รวม 103,185.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9%”