ทุ่ม 1.5 พันล้านผุด “จีโนมิกส์” EEC ปักหมุด ม.บูรพาศูนย์บริการแพทย์

“บอร์ด EEC” ทุ่ม 1,500 ล้านบาท ผุดโครงการพัฒนา “Genomics” ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์ ปักหมุดมหาวิทยาลัยบูรพา ดึงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ดันไทยขึ้นแท่น medical hub ใน 5 ปี ด้าน ส.อ.ท. ลุ้นรับอานิสงส์ ชงตั้งศูนย์ทดสอบด้านการแพ้-ความเข้ากันได้ของด้านชีวภาพคู่ขนาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 ที่ประชุมรับทราบให้เดินหน้าจัดตั้งโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ หรือ Genomics Thailand มูลค่าลงทุน 1,500 ล้านบาท

โดยจะใช้พื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้มอบพื้นที่ให้แล้วเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้เตรียมเสนอเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ที่จะได้สิทธิประโยชน์สูงสุดตาม พ.ร.บ.EEC และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน บีโอไอ

นายสุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงจะเป็นผู้ลงทุน 750 ล้านบาท โดยจะร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาโครงการเพื่อบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole Genome Sequencing) 50,000 ราย บริการตรวจทดสอบทางพันธุกรรม (Genetic Testing) สำหรับการคัดกรองโรค/ภาวะเสี่ยงที่กำหนดภายใต้โปรแกรมระดับชาติ และยังส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการวิเคราะห์ขั้นสูงและการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการบริการและวิชาการ และการฝึกอบรม การผลิตบุคลากร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการการแพทย์แบบจีโนมิกส์เป็นการเฉพาะ และยังเกิดธุรกิจอื่น ๆ จากความร่วมมือของภาคเอกชน

“โครงการนี้จะวิจัยเรื่องรหัสพันธุกรรมที่เราจะรู้ว่าควรใช้ยาแบบไหนมารักษา เราลงทุน 750 ล้านบาท และอีกที่เหลือจะเป็นการลงทุนของเอกชน อย่างบริษัทที่พัฒนาผลิตยาเฉพาะโรค ศูนย์วิจัย บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะทำให้เรามีอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และไทยจะขึ้นเป็น medical hub ใน 5 ปี ซึ่งเราจะยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษฯ เมื่อเอกชนมาลงทุน เขาจะได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ คือ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี หรืออาจสูงถึง 13 ปี+ลดหย่อนภาษี 50% 5 ปี”

ด้านนายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการนี้ส่งผลดีต่อผู้ผลิตยามากกว่าผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ เพราะการทดสอบด้านจีโนมิกส์เป็นการทดสอบด้านพันธุกรรมเพื่อต้องการหายารักษาให้ตรงกับพันธุกรรม จะมีการใช้ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์น้อย แต่หาก ม.บูรพา ตั้งศูนย์ทดสอบด้านการแพ้ หรือการทดสอบความเข้ากันได้ด้านชีวภาพ (biocompat) เพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งด้านนี้จะมีการใช้ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์มาก จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าพื้นที่ส่วนนี้และรอบ ๆ มีศักยภาพดีที่จะสามารถเป็นแหล่งดึงดูดการลงเข้ามาได้ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะในพื้นที่ดังกล่าวหวังที่จะปั้นให้เป็นศูนย์รวมด้านการแพทย์ และดัน จ.ชลบุรี เป็น medical hub บวกกับการได้สิทธิประโยชน์ที่ให้สูงสุดตาม พ.ร.บ.บีโอไอ ที่ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี+5 ปี เป็น 13 ปี

หากลงทุนด้านนวัตกรรมร่วมด้วยในโครงการ และได้ลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี หากอยู่ใน EEC พื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ

สำหรับเป้าหมายการที่ไทยจะเป็น medical hub นั้น ขณะนี้ถือว่าไทยเป็น hub แล้วด้านบริการทางการแพทย์ แต่ก็ยังไม่ครบวงจรเพราะด้านการผลิตชิ้นส่วนกับยายังคงต้องใช้ความพยายามอีกมาก ด้วยไทยเองยังไม่สามารถใช้แล็บในประเทศทดสอบได้ ซึ่งยังคงส่งไปทดสอบแล็บต่างประเทศเพื่อให้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล