พีทีจี รื้อใหญ่แบรนด์ คอฟฟี่ เวิลด์ หลังเข้าซื้อกิจการ-เล็งซื้อแบรนด์กาแฟเพิ่ม

PTG รื้อใหญ่แบรนด์คอฟฟี่ เวิลด์ หลังเข้าซื้อกิจการ หยุดขยายรูปแบบแฟรนไชส์มาลงทุนขยายเอง เป้าอีก 40 แห่งในปีนี้-ปรับปรุงคุณภาพรสชาติกาแฟ ด้านสาขาในต่างประเทศ นักลงทุนรุมขอซื้อแฟรนไชส์เพียบ เล็งซื้อกาแฟแบรนด์อื่นในตลาดต่อ หลังตลาดกาแฟแข่งดุพบหลายรายขาดทุน

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากที่บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด (บริษัทในเครือ) ได้เข้าไปซื้อกิจการร้านกาแฟคอฟฟี่ เวิลด์ รวม 100 แห่ง (ยังไม่รวมสาขาในต่างประเทศ) จากบริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 205 ล้านบาทนั้น ขณะนี้เตรียมดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1) ปรับมาตรฐานรสชาติกาแฟให้ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา เจ้าของกิจการเน้นขายแฟรนไชส์เป็นหลัก และไม่มีการตรวจสอบรสชาติกาแฟว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่

2) สำรวจภาพรวมของตลาดกาแฟ และนำมาปรับแผนการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันสูง และคาดว่าจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงต้นปีหน้า 3) บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ และ 4) ยกเลิกการขยายร้านในรูปแบบแฟรนไชส์ และให้บริษัทกาแฟพันธุ์ไทยลงทุนขยายสาขาเพิ่มเติมใหม่ทั้งหมด

สำหรับร้านกาแฟคอฟฟี่ เวิลด์ มีจุดแข็งที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจค้าปลีก (Nonoil) คือ อยู่ในพื้นที่ที่ร้านกาแฟพันธุ์ไทยไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า และคอมมิวนิตี้มอลล์ นอกจากนี้ บริษัทพีทีจีฯยังมีแนวคิดที่จะขยายร้านกาแฟคอฟฟี่ เวิลด์ ไปยังโครงการคอนโดมิเนียม หรือชุมชนต่าง ๆ ที่มีกำลังซื้อด้วย อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้นอกจากได้ร้านกาแฟภายในประเทศแล้ว ยังมีสาขาในต่างประเทศอีกด้วย คือ ประเทศจีน, อินเดีย, เวียดนาม, ลาว, บังคลาเทศ, กัมพูชา และบาห์เรน และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีนักลงทุนสนใจที่จะซื้อแฟรนไชส์ด้วย ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

“ในปีนี้จะขยายร้านคอฟฟี่ เวิลด์ เพิ่มเป็น 140 สาขา จากเดิมที่มีอยู่ 100 สาขา ก่อนหน้านี้พีทีจีฯได้สำรวจตลาดกาแฟ โดยกาแฟคอฟฟี่ เวิลด์ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับ โอ บอง แปง (Au Bon Pain) และกาแฟสตาร์บัคส์ (STARBUCKS) ถือว่ายังติดอันดับท็อปทรีตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ค่อนข้างมีชื่อเสียงอยู่แล้ว เมื่อพีทีจีฯเข้ามาบริหารกิจการต่อก็ไม่ยาก เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพจัดการภายในให้ดี น่าจะกลับมามีกำไรได้”

นายรังสรรค์กล่าวเพิ่มเติมถึงโอกาสอื่น ๆ ในธุรกิจค้าปลีกว่า ขณะนี้บริษัทพีทีจีฯยังอยู่ในระหว่างสำรวจแบรนด์กาแฟอื่น ๆ ที่อาจจะสามารถเข้าไปซื้อกิจการเพิ่มเติมด้วย โดยบริษัทที่ปรึกษาให้ข้อมูลว่า ตลาดกาแฟในประเทศถือว่าแข่งขันสูงมาก และส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟตั้งแต่รายกลางจนถึงรายเล็กมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา หากมีร้านกาแฟแบรนด์ใด ที่ตอบโจทย์ธุรกิจค้าปลีกของพีทีจีฯ อาจจะเข้าไปซื้อกิจการ ที่สำคัญได้เตรียมความพร้อมด้านงบประมาณไว้ในแผนการลงทุน 5 ปี (2560-2565) ที่ 3,500 ล้านบาท เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมันเฉลี่ย 400 แห่ง/ปี และภายในปี 2565 จะมีสถานีบริการรวม 4,000 แห่ง รวมถึงการขยายร้านกาแฟพันธุ์ไทยและอื่น ๆ

รายงานข่าวเพิ่มเติมถึงร้านกาแฟคอฟฟี่ เวิลด์ นั้น เข้ามาดำเนินการธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแฟรนไชส์ตั้งแต่ปี 2540 โดยเมื่อพิจารณาผลประกอบการในช่วงปี 2555-2559 พบว่าขาดทุนสะสมต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2559 ขาดทุนอยู่ที่ 25 ล้านบาท โดยในอดีตที่ผ่านมายอดจำหน่ายกาแฟผ่านร้านคอฟฟี่ เวิลด์ มีสถิติยอดขายสูงสุดอยู่ที่ 200-300 ล้านแก้ว/ปี และในช่วงที่การแข่งขันรุนแรงยอดขายเคยลดลงไปต่ำสุดอยู่ที่เพียง 80 ล้านแก้ว/ปี ยอดขายที่ลดลงทำให้ต้องขายกิจการให้กับบริษัทพีทีจีฯที่กำลังขยายธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ ทั้งเพื่อให้บริการภายในสถานีบริการและทั่วไป

สำหรับบริษัทพีทีจีฯกำลังอยู่ในระหว่างขยายธุรกิจค้าปลีกน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ และยังมีเป้าหมายที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันให้เพิ่มเป็น 4,000 แห่ง ภายในปี 2565 ด้วย ภายใต้ค่าการตลาดน้ำมัน (Marketing Margin) ที่ค่อนข้างต่ำ (เฉลี่ยไม่เกิน 1.30 บาท/ลิตร) ทำให้ต้องหันมาทำธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มรายได้ ประกอบด้วยร้านสะดวกซื้อแมกซ์มาร์ท (Max Mart) ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ศูนย์ซ่อมบำรุงรถบรรทุกโปรทรัค (ร่วมลงทุนกับบริษัท สามมิตรมอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด) ศูนย์บริการรถยนต์ออโต้แบคส์ (ร่วมลงทุนกับบริษัท ออโต้แบคส์ เซเว่น จำกัด)