เศรษฐกิจไทย “แข็งนอก-อ่อนใน” คลังมึนกำลังซื้อทรุดเก็บ “VAT” ต่ำเป้า

แม้ว่าหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจของภาครัฐจะพากันประกาศว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวได้ดีขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับเพิ่มตัวเลขจีดีพีขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% (3.3-3.9%) แต่จากการรายงานข้อมูลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559-ก.ค. 2560) ที่ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ผู้อำนวยการ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในส่วนที่เป็นรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ช่วง 10 เดือน จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายไป 41,252 ล้านบาท หรือ 6.3% สะท้อนว่า กำลังซื้อภายในประเทศช่วง 10 เดือนแรกยังไม่ได้ดีขึ้นนัก และทิศทางข้างหน้าก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน

เกษตรกร “รายได้หด-อ่วมหนี้”

ขณะที่ “พรเพ็ญ สดศรีชัย” ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวดีสอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวแบบชะลอลง ส่วนหนึ่งจากรายได้ภาคเกษตรกรรมที่ “หดตัวเป็นครั้งแรก” ในปีนี้ ตามการหดตัวของราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะราคาผลไม้ ข้าวนาปรัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีภัยแล้ง ทำให้ฐานราคาสินค้าเกษตรสูง

อย่างไรก็ดี หากดูเป็นกลุ่ม ๆ จะพบว่าการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวดี โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์จากผลของฐานต่ำในปีก่อน ส่วนปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัวได้ต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่ายหมวดบริการยังคงขยายตัว แม้ชะลอลงบ้างตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่กลุ่มที่เห็นลดลงชัดเจนคือ สินค้ากึ่งคงทน หลัก ๆ เป็นพวกเสื้อผ้า

“ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนักโดยรายได้ในภาคเกษตรกรรม มีแนวโน้มลดลงจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่โน้มต่ำลงแม้ผลผลิตขยายตัว สำหรับรายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่ปรับลดลง จากความกังวลด้านกำลังซื้อและแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนยังระมัดระวังการใช้จ่าย”

จับตา Q3 รายได้เกษตรหดตัว

นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ายังมีการขยายตัว เพียงแต่กำลังซื้อของคนแต่ละกลุ่มจะไม่เท่ากัน โดยกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่ไม่ค่อยดี ก็คือ กลุ่มคนฐานราก กลุ่มเกษตรกรที่ปีที่แล้วเจอปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเกิดภาวะ “ช็อก” ทำให้ต้องมีการกู้ยืมเงิน ปีนี้เมื่อไม่มีปัญหาภัยแล้ง มีผลผลิตที่ขายได้ แต่ก็อาจจะต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ที่กู้ยืมมา

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากทั้งการลงทุนในภาคก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

“รายได้เกษตรกรช่วงครึ่งปีหลังคงขยายตัวไม่มาก โดยในไตรมาส 3 คงหดตัว โดยปีก่อนเกษตรกรเจอภัยแล้ง ทำให้ประสบปัญหาไม่มีของขาย แต่บางกลุ่มที่มีสินค้าขายก็อาจจะได้ราคาดี แต่ปีนี้เกษตรกรหลายกลุ่มมีของขายแต่ราคาก็อาจจะไม่สู้ดีนัก ภาพรวมคงค่อย ๆ ดีขึ้น แต่คงดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนจะนานแค่ไหน ขึ้นกับการกระตุ้นด้านอื่น ๆ ด้วย” นางสาวพรเพ็ญกล่าว

ส่งออกเด้ง!! ลุ้นปลุก ศก.ในประเทศ

ขณะที่ภาคการส่งออกที่ดีขึ้น โดยสินค้าคงคลังมีการลดลง และเริ่มมีการเพิ่มกำลังผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงผลิตเพื่ออุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการส่งออก การลงทุนภาครัฐ การลงทุนใน EEC จะช่วยให้เกิดบรรยากาศด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้ และจะส่งผลต่อกำลังซื้อที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ธปท.ยังต้องจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน หลังจากเดือน ก.ค.เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น จากภาคก่อสร้าง

“กำลังซื้อในช่วงที่เหลือ น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องบรรยากาศทางด้านเศรษฐกิจด้วย ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี ก็จะทำให้ทุกภาคส่วนค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ ธปท.ก็มองไว้แต่ต้นแล้วว่าปีนี้การบริโภคภาคเอกชนคงไม่ได้หวือหวามาก” ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าว

ผนึกเอกชนดันส่งออกเต็มสตรีม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังจากประชุมคณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้า ธุรกิจบริการและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ว่าได้หารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งนำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานร่วมของคณะทำงาน เพื่อติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าภาพรวมการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ดีเกิน 5% จากปัจจุบันตัวเลขส่งออกในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) 2560 ขยายตัว 8.2%

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาอาหาร และน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาด และทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหารในตลาดญี่ปุ่น กุ้งและไก่แช่แข็งในตลาดสหรัฐ และยุโรป

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง จากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย (TDI) มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้หารือร่วมกับ BOI เพื่อกำหนดมาตรการจูงใจสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นก่อนจะดำเนินการผลักดันในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งด้านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้จะร่วมกับภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดประชุม Workshop CLMVT ในวันที่ 9 กันยายน 2560 เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้า การบริการและการลงทุนร่วมกันสำหรับระยะกลาง-ยาว 3-5 ปี มุ่งเน้นการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ผลักดันการลงทุนร่วมกันและอำนวยความสะดวกผลักดันการค้าชายแดนให้ราบรื่น

ชี้เศรษฐกิจไทย “แข็งนอก-อ่อนใน”

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ภาพยังเป็น “แข็งนอก อ่อนใน” คือ แม้ภาพเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เพราะส่งออกยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการกระจาย จีดีพีไปสู่ธุรกิจขนาดเล็ก และครัวเรือนต่าง ๆ ที่มองว่าปัจจุบันยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อยังไม่ฟื้น เพราะเม็ดเงินยังไม่ลงไปสู่ฐานราก ขณะที่พืชผลทางการเกษตรราคาก็ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น

“เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวแน่นอน จากส่งออกที่ติดลบเยอะ ๆ มาบวกได้ต่อเนื่อง ทำให้ภาพเศรษฐกิจดูดี แต่จริง ๆ แล้ว ระดับล่าง ๆ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เงินยังไม่ไปถึงฐานราก จีดีพีฟื้นตัวจริง แต่คนจำนวนมากก็บอกว่าไม่มีผล ต่างจังหวัดเศรษฐกิจเงียบ” นายสมเกียรติกล่าว


สำหรับภาคการเงินมองว่า เสถียรภาพยังดูดี เพราะแบงก์ต่าง ๆ มีการตั้งสำรองอยู่ในระดับสูง แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และครัวเรือนมีหนี้เสียเยอะ มีระดับหนี้สูง และกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ก็อาจทำให้คนที่ดูนโยบาย เช่นธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ อาจมีการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่ให้กับเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือนในระยะข้างหน้าได้ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากมากยิ่งขึ้น