กกร.ออกประกาศแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และอื่นๆ มีผลบังคับใช้แล้ว

กกร.ออกประกาศแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และอื่นๆ มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมส่งหนังสือให้โรงพยาบาลทราบและแจ้งราคากลับ ภายใน 45 วัน ก่อนมีการหารือราคาหลังพบส่วนต่างราคาสูงเป็น 1,000%

นายวิชัย โภขนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ประกาศ กกร. ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลแล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา และประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.2562 เป็นต้นไป โดยมั่นใจว่ามาตรการที่ออกมา จะช่วยดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน

โดยภายใต้ประกาศ กกร.ดังกล่าว ได้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) เบื้องต้นอยู่ที่ 3,892 รายการ และในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT) โดยบัญชียามีจำนวน 32,000 รายการ บัญชีเวชภัณฑ์ 868 รายการ และค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ และยังกำหนดให้โรงพยาบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงราคายาต้องแจ้งให้กรมฯ ทราบก่อนปรับราคาภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง ซึ่งกรมฯได้ทำหนังสือให้สถานพยาบาล 353 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

จากที่ส่งหนังสือแจ้งไปนั้น ให้ระยะเวลาในการแจ้งราคาซื้อขาย ภายใน 45 วัน กลับมาที่กรม หากไม่แจ้งจะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากได้ข้อมูลมาครบแล้ว กรมฯ จะนำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ และโรงพยาบาลเอกชนต้องแสดง QR Code เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกด้วย รวมทั้งจะเรียกรายที่คิดราคาแพงเกินจริง หรือคิดกำไรเกินจริงมาสอบถามเหตุผลด้วย

ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบข้อมูลสำหรับราคายา พบว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง มีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ 29.33% จนถึงสูงสุด 8,766.79% หรือมีส่วนต่างราคาตั้งแต่ 10.83 บาท จนถึงสูงสุด 28,862 บาท และมีกำไรตั้งแต่ 47.73% ไปจนสูงสุด 16,566.67% โดยมีตัวอย่างยา เช่น ยา S_DOPROCT ราคายา 17 บาท ขายเฉลี่ย 148 บาท ขายสูงสุด 303 บาท ยา ORFARIN ราคายา 2 บาท ขายเฉลี่ย 13.75 บาท สูงสุด 36 บาท ยา XANDASE ราคายา 3 บาท ขายเฉลี่ย 6 บาท สูงสุด 20 บาท ยา AMPHOTERICIN-B ราคายา 452 บาท ขายเฉลี่ย 937 บาท ขายสูงสุด 2,200 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ภายใต้ประกาศ กกร. ยังได้กำหนดเรื่องใบสั่งยา โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ เมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยใบสั่งยาอย่างน้อย ต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาด หรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังได้ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น หรือการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร เช่น ปวดท้อง คิดราคา 3 หมื่น หรือปวดหัว แต่ให้บริการทั้งตรวจตา วัดชีพจร ตรวจลิ้น ทำทีซีสแกน หรือคิดค่าชะโงกจากการนำแพทย์มาให้บริการหลายคน เป็นต้น ซึ่งหากผู้บริโภคเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริง และร้องเรียนเข้ามาและพบว่าผิดจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ