ไทยผนึกอินเดียปลดล็อก RCEP ขยายตลาดปาล์ม-ยางพารา

ผลกระทบจากสงครามการค้าที่กำลังระอุ ค่าเงิน ราคาน้ำมัน ภัยธรรมชาติ เป็นความผันผวนที่สะเทือนไปทั้งโลกในขณะนี้ ไทยจึงต้องขยับทัพหาตลาดที่มีศักยภาพรองรับสินค้าที่อาจจะได้รับผลพวงจากวิกฤตโลก ซึ่ง “อินเดีย” ถือเป็นตลาดสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ ด้วยอินเดียมีประชากรถึง 1,200 ล้านคน มีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ถึง 75% มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี โดยคาดว่าปี 2562 จะขยายตัว 7% ซึ่งที่ผ่านมา อินเดียมักจะเน้นการค้าขายภายในประเทศเป็นหลัก แต่จากภาวะสงครามการค้านี้ นอกจากอินเดียจะไม่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังเป็นเป้าหมายหนึ่งของนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการลงทุนจากจีน ประกอบกับรัฐบาลอินเดียมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตในอินเดีย “Make in India” นี่จึงเป็นโอกาสด้านการค้าและการลงทุนจากทั่วโลก

สำหรับการค้า “ไทย-อินเดีย” ในปี 2561 มูลค่าการค้ารวม 12,464 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 20.16% โดยไทยถือเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของอินเดีย ทั้งแป้งมัน ยางพารา ผลไม้สดและแปรรูป เครื่องประดับยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ โดยในปี 2562 นี้ สองฝ่ายตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% หรือ 8,208.35 ล้านเหรียญสหรัฐให้ได้

เจนไน-มุมไบเมืองเศรษฐกิจ

ล่าสุดการเยือนสาธารณรัฐอินเดีย ของ “นางสาวชุติมา บุณยประภัศร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 16-21 พ.ค. 2562 มุ่งไปยัง 2 เมืองใหญ่อย่างเจนไน รัฐทมิฬนาฑู และเมืองท่าอย่างมหานครมุมไบ รัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นเมืองท่าทางธุรกิจที่สำคัญของอินเดียฝั่งตะวันตก ประชากรมีรายได้ต่อหัวและกำลังซื้อสูง รวมทั้งมีนักธุรกิจต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ทำให้สนใจนำเข้าสินค้าที่มีสไตล์และทันสมัย สินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพ และมีโอกาสเจาะตลาดนี้ ได้แก่ อาหารและเกษตรแปรรูป ร้านอาหาร ของตกแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฟอร์นิเจอร์บิลต์อินที่มีแบบทันสมัย ธุรกิจร้านอาหารไทย ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีการสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยถึง 80%

พร้อมกันนี้ ได้มีการเจรจากับนักลงทุนอินเดีย หวังสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และหารือแนวทางส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างปาล์ม ยางพารา ผลไม้ วัตถุดิบ เครื่องเทศต่าง ๆ ไปยังตลาดใหม่ ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีความเสี่ยงน้อยและเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย

การเจรจาหารือครั้งนี้ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์เจาะตลาดอินเดียในแต่ละรัฐให้ชัดเจน และประสานกับนักลงทุนไทยที่มีความสนใจและความพร้อมทั้งด้านซัพพลายเชน สินค้า บริการ เพื่อเข้ามาจับมือร่วมทำการค้า ลงทุนในอินเดียให้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดแสดงสินค้าร่วมกับห้างโมเดิร์นเทรด โปรโมตสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

รุกส่งออกน้ำมันปาล์ม-ยางแท่ง

นางสาวชุติมาเปิดเผยถึงโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทย-อินเดียว่า อินเดียเป็นประเทศบริโภคน้ำมันพืชใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นการบริโภคน้ำมันปาล์มโดยตรงและใช้ในอุตสาหกรรมถึง 70% หรือราว 10.8 ล้านตัน ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มและมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดมายังอินเดียเพิ่มขึ้น

แต่ปัจจุบันอินเดียลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียและมาเลเซียต่ำกว่าไทย ตามความตกลง Malaysia-India Comprehensive Economic Cooperation Agreement (MI-CECA) ที่ลงนามกันตั้งแต่ 2553 อินเดียลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ให้มาเลเซีย จาก 54% เหลือ 45% ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเจรจาขอลดภาษีนำเข้าเหลือ 45% เช่นกัน ส่วนไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 50% ตามกรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าที่สูงกว่าคู่แข่ง 5% ทำให้ไทยแข่งขันได้ยาก ทำให้ต้องส่งน้ำมันปาล์มไปยังมาเลเซียเพื่อรวบรวมและส่งออกแทน

ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องเจรจาขอสิทธิพิเศษการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวกับรัฐบาลอินเดีย ซึ่งแม้ว่าอัตราภาษียังมีความผันผวนขึ้นลงไม่เท่ากันในแต่ละสัปดาห์ แต่การหารือกับบริษัทนำเข้าน้ำมันปาล์มของอินเดียครั้งนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาราคาปาล์มของไทยที่อยู่ในภาวะตกต่ำได้ในระยะยาว

ขณะที่ “สินค้ายางแท่ง” ก็เป็นสินค้าหนึ่งที่มีโอกาสขยายตลาดส่งออกไปยังอินเดีย โดยหลังการพบและหารือกับ “นายวี กฤษณะราม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มรัล รีซิเลียน ไทร์ ผู้บริหารบริษัทยางล้อของอินเดีย เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกยางพาราไทยสู่ตลาดอินเดียให้เพิ่มขึ้น ซึ่งนักลงทุนรายดังกล่าวมีความสนใจนำเข้าสินค้ายางของไทย โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบในยางรถยนต์ เช่น ยางแท่ง (block rubber) โดยได้ขอให้ฝ่ายรัฐบาลไทยแนะนำรายชื่อผู้ส่งออก หรือซัพพลายเออร์ของไทยที่เชื่อถือได้เพื่อเจรจาธุรกิจต่อ ยืนยันพร้อมนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางจากไทยภายในปี 2562 เนื่องจากมั่นใจคุณภาพยางและราคายังสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ จากปัจจุบันนำเข้าจากเพียง 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

เร่งเครื่องเจรจา RCEP

ภายหลังจากการเยือนอินเดียครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดที่จะประชุมระดับรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งทางอินเดียจะต้องเข้าร่วมด้วย ในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากที่ได้เจรจาไปแล้ว 1 รอบ เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา


โดยสมาชิก RCEP มีเป้าหมายว่าจะต้องสรุปผลการเจรจาให้ได้ ซึ่งหลายฝ่ายต้องพยายามผลักดันต่อเนื่อง เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงรอยต่อทางการเมือง หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย รวมถึงอินเดียอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าการเจรจาหาก RCEP ไม่เกิดจะส่งผลอย่างหนัก เพราะการค้าโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงจำเป็นต้องหากลุ่มเศรษฐกิจมาค้าขายกันเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าโดยเร็ว