“เบทาโกร” ตั้งเป้าโต 12% ดันยอดขายทะลุแสนล.

สมศักดิ์ บุญลาภ

“เบทาโกร” เผยเทรนด์อาหารแปรรูปยังแรง อัดงบฯรุกขยายโรงงานต้นน้ำ-ปลายน้ำ 5 พันล้านบาท ลั่นส่งออกทั้งปีโต 12% ดันยอดรวมทั้งกลุ่มทะลุ 1 แสนล้านบาท ไม่หวั่นสงครามการค้า จับตาปัจจัยเสี่ยงค่าเงินบาท

นายสมศักดิ์ บุญลาภ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอาหาร เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกปี 2562 เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยตั้งเป้าเติบโต 12% ปริมาณ 97,580 ตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้าน โดยตลาดหลักยังคงเป็นญี่ปุ่น 60% อียู 50% กลุ่มตะวันออกกลาง 10% ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักยังคงเป็นไก่ปรุงสุกแช่แข็ง และไก่สดแช่แข็ง ขณะที่ปีนี้บริษัทยังคงเน้นการทำตลาดสินค้าไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RWA) กลุ่มอาหารสดหมู ไก่ ไข่ ภายใต้แบรนด์เอสเพียว แบ่งออกเป็น สินค้าสด (เนื้อไก่ เนื้อหมู) 60% สินค้าอาหารแปรรูป 25% ไข่ไก่ 9% สำเร็จรูป 6% ที่คาดว่าจะโต 17% ซึ่งได้ OEM ไปยังตลาดเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และตลาด EU กลุ่มสแกนดิเนเวียมากขึ้น นอกจากนี้ยังขยายกำลังการผลิตสินค้าไก่ปรุงสุกเพิ่มขึ้นอีกปีละ 3,000 ตัน เพื่อป้อนตลาดหลักญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ลงทุนครอบคลุมสินค้าต้นน้ำ-ปลายน้ำมากขึ้น ล่าสุดได้สร้างโรงงานสำหรับรองรับตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ โดยจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานช่วงเดือนกรกฎาคมของปีนี้ และบริษัทตั้งเป้าขยายโรงงานทั้งในและต่างประเทศมูลค่า 5,000 ล้านบาท อาทิ โรงงานแปรรูปไก่สด จ.มหาสารคาม โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ จ.นครราชสีมา กลุ่มอาเซียน กัมพูชา ลาว เมียนมา (CLM) โดยปีนี้จะเริ่มขยายฟาร์มหมูพ่อแม่พันธุ์ไปยังประเทศเมียนมาเป็นหลัก รวมถึงความพร้อมเปิด Betagro Central Kitchen นวนคร ที่ได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมอาหารเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยกำลังการผลิตรวม 8,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายในส่วนของอาหารแปรรูปและพร้อมทานได้อีกราว 17%


“โดยภาพรวมปีนี้มองทิศทางเทรนด์อาหารแปรรูปยังคงมาแรง ออร์เดอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะญี่ปุ่น เรามองว่าเราโตจากการส่งออกทั้งแบบ OEM ทำให้เราต้องมองธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมายอดการส่งออกต่างประเทศเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะโตขึ้นกว่าปี”61 โดยปัจจัยภายนอกสงครามการค้ายังไม่มีผลกระทบ เนื่องจากไม่ใช่ตลาดหลัก และมองว่าเราอาจได้เปรียบ แต่ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า และการเฝ้าระวังสำหรับเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรจากต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐได้วางมาตรการเป็นอย่างดี และเราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตร ภาครัฐและสมาคมเต็มที่” นายสมศักดิ์กล่าว