เกษตรปี”62 โต 2.5-3.5% “ข้าว-ยาง-ปาล์ม-อ้อย” ราคาลดลง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้วิเคราะห์และประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1/2562 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 145.8 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 145.2 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 127.8 ลดลงจากช่วงเดียวกันที่อยู่ที่ระดับ 128.7 หรือลดลงร้อยละ 0.7

ดัชนีผลผลิตหมวดพืชผลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 148.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันที่อยู่ที่ระดับ 147.5 ดัชนีราคาหมวดพืชผลที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 129.5 ลดลงจากช่วงเดียวกันที่อยู่ที่ระดับ 135.0 หรือลดลงร้อยละ 4.1 ดัชนีผลผลิตหมวดปศุสัตว์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 167.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันที่อยู่ที่ระดับ 165.2 และดัชนีราคาหมวดปศุสัตว์ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 123.7 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันที่อยู่ที่ระดับ 107.14 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5

เศรษฐกิจเกษตรขยายตัวลดลง

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จัดเป็นการขยายตัวได้ในระดับต่ำหรือค่อนข้างทรงตัว ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาพืชที่ชะลอลงเป็นหลัก ขณะที่สาขาปศุสัตว์-สาขาประมง-สาขาบริการทางการเกษตร-สาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น

โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สาขาพืชในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวร้อยละ 0.1 แม้ว่าผลผลิตพืชส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี, ข้าวนาปรัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และลำไย แต่ผลผลิต “อ้อยโรงงาน” ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดในไตรมาส 1 กลับมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ส่งผลให้สาขาพืชในไตรมาสนี้ค่อนข้างทรงตัว โดยข้าวนาปีมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคา “ข้าวหอมมะลิ” ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มันสำปะหลังมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมันมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ลำไยมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน กับสับปะรดโรงงาน

ด้านราคาสินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้นจากการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท (ความชื้นไม่เกิน 14.5%) ภายใต้โครงการตามนโยบายประชารัฐ มันสำปะหลังมีราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และสับปะรดโรงงานมีราคาเพิ่มขึ้นปริมาณผลผลิตยังมีไม่เพียงพอ

สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ข้าว, อ้อยโรงงาน, ยางแผ่นดิบ, ปาล์มน้ำมัน และลำไย โดยข้าวมีราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น อ้อยโรงงานราคาลดลงตามราคาน้ำตาลของโลกอยู่ในภาวะล้นตลาด ยางแผ่นดิบมีปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เปิดกรีดยางใหม่ ปาล์มน้ำมันมีผลผลิตออกมาสู่ตลาดมาก และสต๊อกน้ำมันอยู่ในระดับสูงกว่าสต๊อกเพื่อความมั่นคง ส่วนลำไยมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากจากการผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น

ข้าว-ยาง-ปาล์มส่งออกลดลง

ด้านการส่งออกในไตรมาส 1/2562 มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ลำไย และผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าพืชที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, ผลิตภัณฑ์ยางพารา, น้ำมันปาล์ม โดยข้าวตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ-ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์ภายในประเทศยังมีความต้องการมาก มันสำปะหลังจีนนำเข้าจากไทยลดลง

โดยเฉพาะ “มันเส้น” ลดลงถึงร้อยละ 50 ยางพาราจีนนำเข้าลดลง น้ำมันปาล์มประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ อินเดีย มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ยุโรปมีความต้องการนำเข้าน้ำมันปาล์มลดลง ส่วนน้ำตาลปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าส่งออกลดลง ราคาน้ำตาลตลาดโลกลดลง

สาขาปศุสัตว์ในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ไก่เนื้อ-สุกร-ไข่ไก่-น้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ “ไก่เนื้อ” ผลิตสนองความต้องการของตลาดหลัก (ญี่ปุ่น-สหภาพยุโรป-อาเซียน) หมู เพิ่มขึ้นจากราคาหมูมีชีวิตเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2561 ผลผลิตไข่ไก่ เกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น น้ำนมดิบ จำนวนแม่โคนม และอัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้น

สาขาประมงในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีทิศทางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/กก.) ราคาลดลง ปลานิลขนาดกลางมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปลาดุกบิ๊กอุย (2-4 ตัว/กก.) มีราคาเฉลี่ยลดลง ด้านการส่งออกมีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น

จากตลาดหลัก เช่น ซาอุดีอาระเบีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, แคนาดา ส่วน “ปลาหมึก” และผลิตภัณฑ์มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงจากการที่ประเทศคู่ค้าลดการนำเข้าลง ส่วนกุ้งมีปริมาณมูลค่าส่งออกลดลงจากการที่อินเดียผลิตกุ้งได้มากขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2562

แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยทุกสาขาการผลิต ได้แก่ สาขาพืช, สาขาปศุสัตว์, สาขาประมง, สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ “ภัยแล้ง” ที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัด จะส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนสะสมและแหล่งน้ำธรรมชาติในบางพื้นที่มีไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร และอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรในระยะถัดไป