พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ พ.ค. 62 พุ่ง 1.15%

(แฟ้มภาพ)นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผอ.สำนักงาน สนค.
ผวาปรับขึ้นค่าโดยสาร ราคาผักสด เนื้อสัตว์ ดันเงินเฟ้อ พ.ค. 62 สูงขึ้น 1.15% สนค.พร้อมประเมินเงินเฟ้อใหม่เดือนหน้า ปัจจุบันอยู่กรอบ 0.7-1.7%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.2562 เท่ากับ 103.31 สูงขึ้น 1.15 % ซึ่งสูงขึ้นในรูปแบบชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนเม.ย. 2562 อยู่ที่ 1.23% สำหรับปัจจัย ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาอาหารสดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงถึง 5.28% ตามการสูงขึ้นของผักสด ข้าวสาร เนื้อสุกร ส่วนราคาพลังงานกลับหดตัวลง 0.49% ตามการขยายน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงเป็น 4 ครั้งในเดือน พ.ค.นี้ รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าโดยสาร โดย สนค.เตรียมประเมินเงินเฟ้อทั้งปีในเดือนหน้า ขณะที่กรอบเงินเฟ้อมองในกรอบ 0.7-1.7%

สำหรับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.83% โดยผักสูงขึ้น 29.34% เช่น ต้นหอม พริกสด มะเขือ จากอาหารที่ร้อนจัด ทำให้ผักโตช้า เสียง่าย ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 3.74% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 3.26% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม กาแฟ สูงขึ้น 0.61% ส่วนสินค้าที่ปรับลดลง ผลไม้สด เช่น เงาะ ส้มเขียวหวาน ลองกอง ลดลง 0.63% ไข่ และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 0.30%

หมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.20% ตามการสูงขึ้นของค่าโดยสารสาธารณะ ขสมก. บขส. ที่ปรับสูงขึ้น 5.63% ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 0.08% หมวดเคหสถาน เช่น ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน สูงขึ้น 0.33% หมวดการตรวจรักษาและการบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.21% ส่วนกลุ่มที่ลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 1.20% การสื่อสาร ลดลง 0.03% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดง 0.02%


อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) สูงขึ้น 0.92% สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 422 รายการ พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 233 รายการ อาทิ เนื้อหมู ข้าวสารเจ้า ผักสด สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 91 รายการ และมีสินค้าลดลง 98 รายการ เช่น ผลไม้ น้ำมันดีเซล ทั้งนี้ สถานการณ์เงินเฟ้อ สนค.ยังเชื่อว่าราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ อยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนด ส่วนเงินเฟ้อครึ่งปีหลัง สนค.จะมีการพิจารณาและคำนวนค่ากลางใหม่อีกครั้งในเดือนหน้า