เปิดผลประชุมคณะเจรจา RCEP นัดพิเศษ ไทยเป็นเจ้าภาพ คืบหน้า 4 วาระร้อนตามเป้า คาดเจรจาจบปีนี้

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รักษาการในตาแหน่ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมเจรจาในการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 25-31 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า สมาชิก 16 ประเทศเข้าร่วมหารือและผลักดันให้การเจรจา บรรลุผลสาเร็จโดยเร็วตามเป้าหมายในปี 2562

โดยการเจรจารอบนี้ทุกประเทศยังคงผลักดันให้ประเด็นต่างๆ ตกลงกันให้ได้ อย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นที่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่ 1) รายการสินค้าสำหรับกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายการ สินค้าตกลงกันเพิ่มเติมได้ 331 รายการ หรือกว่า 70% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยผลของการตกลง รายการกฎถิ่นกำเนิดสินค้าดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าที่ผลิตในไทยมากขึ้น และ ผู้ผลิตของไทยจะสามารถใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบจากแหล่งต่างๆ ในภูมิภาคอาร์เซ็ปได้มากขึ้น

2) ภาคผนวกเกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมสามารถสรุปการหารือได้อีก 6 ข้อบท คือ เรื่องคำนิยาม สิทธิการคง เลขหมายการเชื่อมโยง การเข้าถึงและใช้โครงข่ายโทรคมนาคม การระงับข้อพิพาท และการเข้าถึงสายท่อและ เสาถือว่าตกลงกันได้มากถึง95% ของข้อบททั้งหมด และคาดว่าจะสามารถสรุปได้ในรอบถัดไปบทนี้จะมีกฎและกติกาด้านความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎระเบียบและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโทรคมนาคม ระหว่างประเทศ

3) ภาคผนวกการเงินสามารถสรุปข้อบทคำนิยามเรื่องบริการการเงิน และคาดว่าจะสามารถ สรุปภาคผนวกดังกล่าวได้ในรอบต่อไปเช่นกัน

และ 4) ทรัพย์สินทางปัญญา สามารถสรุปข้อบทองค์กรจัดเก็บ ค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินการด้านลิขสิทธิ์ด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการหารือครั้งนี้มีประเด็นที่ประเทศสมาชิกยอมรับข้อเสนอของไทยและอาเซียน ทำให้การเจรจามีความคืบหน้า แต่ยังต้องมีการหารือในประเด็นอ่อนไหวระหว่างคู่เจรจาต่อไป

นายรณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าการเจรจาการยื่นข้อเสนอเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุนของประเทศสมาชิก โดยสมาชิกตกลงที่จะยื่นข้อเสนอปรับปรุงเปิดตลาด ภายในวันที่ 14 มิถุนายนที่จะถึงนี้ เพื่อให้สมาชิกได้เร่งเจรจาข้อเสนอเปิดตลาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ คณะกรรมการเจรจาฯ ได้ใช้เวลาหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการพิจารณากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ในกรณีที่สินค้าชนิดเดียวกันมีการเปิดตลาดที่แตกต่างกันของสมาชิกแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาชิก RCEP เห็นว่า เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีเงื่อนไขต่อผลประโยชน์ของสมาชิกมากที่สุด เพราะเป็นกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่อาจจะมีการสวมสิทธิเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเป็นผลจากการยื่นข้อเสนอเปิดตลาดที่มีความยืดหยุ่นในหลักการการเปิดตลาดที่แตกต่างกัน โดยขณะนี้มีสมาชิกยื่นร่างกฎเกณฑ์เพื่อใช้เป็นฐานการเจรจา อาทิ อาเซียน อินเดีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ซึ่งร่างข้อเสนอดังกล่าวมีความ แตกต่างกันทั้งในกระบวนการและกฎเกณฑ์ทางศุลกากร ทั้งนี้ สมาชิกอยู่ระหว่างเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

นายรณรงค์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตามที่สมาชิกอาร์เซ็ปได้ตั้งเป้าหมายสรุปการเจรจาในปีนี้ จะเป็นผลให้สมาชิกต้องเร่งหารือในเรื่องการแปลงพิกัดศุลกากรของตารางการลดภาษีจากระบบฮาร์โมไนซ์ของปี 2012 เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ของปี 2017 ให้เร็วกว่ากระบวนการปกติในปีนี้

อย่างไรก็ตาม กระบวนการแปลงพิกัด ศุลกากรของสมาชิกทั้ง 16 ประเทศอาจส่งผลกับระยะเวลาการลงนามความตกลง RCEP ในปีถัดไป ทั้งนี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนยืนยันจะผลักดันให้การเจรจา RCEP สรุปผลภายในปี 2562 และจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน สมัยพิเศษ ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือท่าทีของอาเซียนในเรื่อง RCEP ก่อนการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำ RCEP ครั้งที่ 26 ณ เมืองเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาเพิ่มเติมได้อีกหลายข้อบทตามแผนที่วางไว้