กรมประมงจัดงาน “Combating IUU Day” โชว์ศักยภาพระบบควบคุม IUU ไทยเข้ม

จากการที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น”วันต่อต้านการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมสากล:Combating IUU Day” เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับภัยคุกคามของการทำประมง IUU ที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมงนั้น

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า วันนี้ (5 มิ.ย.2562 ) กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO )ได้ร่วมจัดงานCombating IUU Day พร้อมกับการจัดกิจกรรม DOF MEET THE PRESS MOVING TOWARDS SUSTAINABLE FISHERIES ขึ้นที่กรมประมง เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และรับทราบถึงการก้าวผ่านการทำประมงของเรือประมงนอกน่านน้ำของไทย ซึ่งในอดีตยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีของกฏหมายสากลและไม่มีการดำเนินการเพื่อป้องกันยับยั้งการทำประมง IUU ทั้งในเรื่องของกระบวนการทางกฏหมายที่ขาดความชัดเจนของกรอบกฏหมายในการกำหนดมาตรการติดตาม ควบคุมเฝ้าระวังการทำประมง หรือจะเป็นเรื่องของการจัดการกองเรือที่ขาดการควบคุมไม่สามารถตรวจสอบใดๆได้ อีกทั้ง เรื่องของแรงงานบนเรือประมง ก็ไม่มีระบบตรวจสอบอย่างชัดเจน ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความสูญเสียของทรัพยากรทางธรรมชาติและการคุกคามสิทธิ์เสรีภาพและการค้ามนุษย์และท้ายที่สุดได้รับใบเหลือง IUU เมื่อปี ิ2558

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ไทยได้ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมายจนกระทั่งได้ใบเขียว ไทยได้มีการปฏิรูปภาคการประมงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และกระบวนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมายทั้งระบบ โดยในส่วนการทำประมงนอกน่านน้ำ ได้มีการปรับปรุงกฏหมาย ออกกฏกระทรวงเรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำ พ.ศ.2562 และมีการประกาศกรมประมงเกี่ยวข้องกับเรือประมงนอกน่านน้ำ จำนวน 7 ฉบับ รวมถึงมีการบริหารจัดการกองเรือประมงนอกน่านน้ำที่จะทำการประมงในพื้นที่ SIOFA( พื้นที่ภาคีความตกลงว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่ตอนใต้มหาสมุทรอินเดีย ) ให้สอดคล้องกับพื้นที่การทำประมงและสมดุลกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ


นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเทคโนโลยีในการเฝ้าระวังได้แก่ ระบบติดตามเรือประมง(VMS )ระบบแสดงตนอัตโนมัติ(AIS)ระบบรายงานและระบบเฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์ (ERS) EM ระบบการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงผ่านระบบอิเล็กทรอกนิกส์(E-PIPO )ผู้สังเกตการณ์บนเรือ Observer onboardและคู่มือขั้นตอนการปฎิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน(SOP )รวมถึงพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนระบบตรวจสอบด้านแรงงานประมงฯลฯ ซึ่งการดำเนินการดังที่กล่าวมานี้นำไปสู่การปฏิรูป ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำประมงนอกน่านน้ำอย่างเป็นระบบ
ที่ชัดเจนที่สุดคือ ขณะนี้เรือประมงนอกน่านน้ำของไทยสามารถออกไปทำการประมงได้แล้ว หลังจากที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำนานถึง 2 ปี โดยเรือประมงนอกน่านน้ำลำแรกที่ได้ออกไปทำการประมง ณ มหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ เรือมณีเงิน 5 ซึ่งเดินทางออกไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ระบบการบริหารจัดการการทำปรคะมงนอกน่านน้ำของไทยมีมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากลและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศได้