หอการค้า 5 ภาค จี้รัฐบาลใหม่ ยกเครื่องเศรษฐกิจ-Digital Transformation

ปิดฉากการประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2562 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี “กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนนำเสนอความต้องการภาคธุรกิจเอกชนที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แน่นอนว่าสิ่งที่อยากเห็น คือ ความต่อเนื่องการลงทุนสารพัดเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ

ไฮไลต์การประชุมหอการค้า 5 ภาคยังรวมถึงเป็นเวทีเปิดให้กับหอการค้าทั่วประเทศ หรือหอการค้า 5 ภาคได้เสนอแนะตลอดจนส่งข้อคิดเห็นในท่วงทำนองช่วยกัน เขียนโรดแมปในการบริหารประเทศให้กับผู้นำภาครัฐอีกด้วย หลักใหญ่ใจความต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน

ตะวันออก-เหนือลุ้นรัฐบาลใหม่

เริ่มต้นที่ “ปรัชญา สมะลาภา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ที่ประชุมหอการค้า 5 ภาคถกเรื่องภาวะเศรษฐกิจและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจเข้าสู่โหมดซึมและจะซึมลึกมากขึ้น การกระตุ้นกลับมาก็ลำบาก ที่สำคัญตอนนี้มีข้อกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

“เสถียรภาพรัฐบาลเป็นตัวบ่งชี้ความแน่นอนหรือไม่แน่นอนในเชิงนโยบาย ถ้าขาดเสถียรภาพจะไปฉุดการบริโภค คนไม่ลงทุน เอกชนจะ wait & see รอให้มีความชัดเจนก่อนค่อยลงทุนปลอดภัยกว่า อย่าให้เศรษฐกิจประเทศซึมลึกเพราะกระตุ้นลำบาก”

สอดคล้องกับ “วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า กังวลปัจจัยการเมืองเพราะเศรษฐกิจภูมิภาคกำลังซื้อยังอ่อนแรง นักลงทุนชะลอรอดูความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ธนาคารเองมีความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เม็ดเงินในระบบถูกจำกัด จึงอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยรีบจัดตั้งและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว

ใต้-อีสาน-กลางหวังเสถียรภาพ

ถัดมา “วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้น่าเป็นห่วง เพราะพืชเศรษฐกิจหลัก “ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน” ราคาตกต่ำ ภาคการท่องเที่ยวอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น กำลังซื้อหายรายได้ร้านค้าหดตัว นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเยือนจังหวัดภูเก็ตเป็นกรุ๊ปทัวร์ 40-50 คนลดลง

“เอกชนคาดหวังให้ภาคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้โดยเร็ว และขอให้มีเสียงสนับสนุนที่จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพื่อให้กฎหมายหลักต่าง ๆ ผ่านการพิจารณาของสภาไปได้ วันนี้ใครเป็นรัฐบาลก็ตาม สิ่งที่หอการค้า 5 ภาคระดมความคิดเห็นเตรียมนำเสนอเป็นสมุดปกขาวผ่านหอการค้าไทยไปที่นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล” 

ย้อนกลับขึ้นอีสาน “สวาท ธีระรัตนุกูลชัย” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า กำลังซื้อในภาคอีสานยังทรุดเหมือนเดิม แม้มีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาเศรษฐกิจคงไม่ดีขึ้นเพราะไม่มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่อยู่ยาวถึง 6 เดือนหรือไม่ ภาคเอกชนยังไม่ลงทุนหรือขยับลงทุนน้อยมาก เป็นสถานการณ์ชะลอตัวต่อเนื่อง 1 ปีมาแล้ว

“เราต้องการความนิ่งทางการเมืองมากกว่า หลังงบประมาณออกทุกคนจะอยู่ถึงหรือเปล่า ผู้ประกอบการมองว่าการแบ่งข้างทางการเมืองยังไม่จบ ต่างประเทศก็มองอยู่ว่าประเทศไทยเมื่อไหร่จะไปข้างหน้า”

ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่หอการค้าภาคอีสานเจาะลึกประเด็นการเมืองท้องถิ่นจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งการเมืองท้องถิ่นเป็นตัวจุดประกายสภาพคล่องทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนมาก

“ใครเป็นรัฐบาลต้องทำงานแข่งกับคะแนนนิยม ไม่ใช่ใช้ประชานิยม ต้องทำงานแข่งเพื่อชิงคะแนนนิยม การใช้ประชานิยมไม่ได้ประโยชน์เลย ต้องใช้คะแนนนิยมจะได้ประโยชน์มาก ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น”

และ “ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า กำลังซื้อภาคกลางทรงตัวยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นมา ความหวังขณะนี้ทุกคนรอรัฐบาลใหม่ที่จะออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของรากหญ้าขึ้นมา

สำหรับภาพรวมนั้น “กลินท์ สารสิน” กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่หอการค้าทั่วประเทศต้องเตรียมพร้อม โดยเฉพาะการปรับใช้ดิจิทัลพัฒนารีสกิลด้านต่าง ๆ ด้านที่ 2 เรื่องการท่องเที่ยวยังเป็นตัวจักรสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อจากปีที่ผ่านมาได้มีการจัดทำโปรเจ็กต์ท่องเที่ยวริมโขง เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาหอการค้า 7 จังหวัด ซึ่งนำไปแอพพลายในไทยแลนด์ ริเวียร่า โดยโฟกัสการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชื่อมโยงการสร้างรายได้สู่ชุมชน ตามวัตถุประสงค์ด้านต่าง ๆ

เช่น การท่องเที่่ยวเชิงแอดเวนเจอร์ การท่องเที่ยวเชิงโรแมนติก การท่องเที่ยวเชิงสโลว์ไลฟ์ เป็นต้น ส่วนภาคการเกษตรยังคงมุ่งเน้นผลักดันโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็น Agenda สำคัญเพื่อเสนอต่อรัฐบาลใหม่

ทรูแนะหอการค้า ยกเครื่องดิจิทัล

ด้าน “ศุภชัย เจียรวนนท์” ที่ปรึกษาหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษ เรื่อง Digital Transformation กับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงแรงและเร็วขึ้น เป็นยุค 4.0 คือ ความสามารถในการเชื่อมโยงกระบวนการทำงานกับการสื่อสาร ระบบคอมพิวเตอร์ ที่เก็บข้อมูลได้จำนวนมาก พัฒนาจนสามารถคำนวณคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าได้ จะเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจแย่ง ที่จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา กลายเป็นสงครามไซเบอร์ เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี และเชื่อว่าจีนจะตอบโต้สหรัฐฯทางไซเบอร์ด้วย โดยหวังว่าหลังจากนี้การทำสงครามด้านเทคโนโลยีจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) เป็นตัวอย่างการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางเพื่อต่อยอด 4.0 เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในประเทศและภูมิภาค ซึ่งการพัฒนาในลักษณะเดียวกับอีอีซีควรเกิดขึ้นในภาคอื่นด้วย โดยควรดึงจุดแข็งของแต่ละภาคออกมาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันต่อ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเส้นทางเชื่อมกับจีน ต้องวางนโยบายต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่จุดแข็งนี้ ภาคใต้ที่เชื่อมกับมาเลเซีย หากเชื่อมโยงกันได้จะส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องมีความพร้อมทางด้านบุคลากร มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สามารถพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ถูกต้อง โดยเฉพาภาคเกษตรที่มีประชากรคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ จำเป็นต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดไปยังยุค 5.0 นั่นคือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2030 เทคโนโลยี AI จะกระทบต่อแรงงานไทยมากถึง 30% ซึ่งสอดคล้องกับ สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ที่ประชุมเวิล์ดอีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่ได้ประเมินศักยภาพดิจิทัลของประเทศในโลก อันดับ 1 คือ สหรัฐฯ รองลงมาคือสิงคโปร์ ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 39 ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจประเทศที่มีมูลค่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ


ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ไทยต้องพัฒนาบุคลากรทางด้านไอที