เศรษฐกิจดิจิทัล “อาเซียน” เชื่อมเน็ตความเร็วสูง-พัฒนาโลจิสติกส์

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ธนาคารโลกได้เปิดตัวรายงาน “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : เสริมรากฐานในอนาคตให้เข้มแข็ง” โดยรายงานฉบับนี้ได้เสนอแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายที่ภูมิภาคนี้จะต้องเผชิญ

เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า รายงานได้เสนอการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วนของอาเซียนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และหวังว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

ด้าน นาตาชา เบสชอร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายไอซีทีอาวุโส ธนาคารโลก ได้ชี้ประเด็นสำคัญของรายงานว่า ปัจจุบันประชากรของอาเซียนมีความเข้าใจและมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดถึง 6-7 ชม./วัน ส่งผลให้การใช้งานในเชิงธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การพัฒนาดิจิทัลในอาเซียนควรจะต้องดำเนินการใน 6 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้

พัฒนาเน็ตความเร็วสูง

ประเด็นแรกการขยายการเชื่อมต่อ ด้วยการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ “ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต” ให้มีความเร็วสูงขึ้นและราคาสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้น แต่หน่วยงานราชการของอาเซียนในปัจจุบันยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อเท่าที่ควร ดังนั้น หากสามารถนำอุปกรณ์ดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ก็จะช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในประเด็นนี้

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ระบุว่า ประเทศไทยได้พัฒนาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในชนบทห่างไกลตาม “โครงการเน็ตประชารัฐ” เพื่อขยายโอกาสแล้ว โดยโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ครอบคลุม นอกจากนี้ยังได้มีการประมวลผลข้อมูล

บิ๊กดาต้าโดยจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลและระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)” เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลและยังส่งเสริมการใช้แถบชิปบนบัตรใบเดียวในการเข้ารับบริการของรัฐ แค่ 19% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

ประเด็นที่ 2) การสร้างแรงงานที่มีทักษะ ด้วยระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วและพัฒนา “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” ด้วยการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งภาพรวมของอาเซียนยังคงพัฒนาด้านนี้ไม่เพียงพอ สำหรับประเทศไทยได้มีการพัฒนาบุคลากรแรงงานให้มีทักษะด้านดิจิทัล โดยไม่พึ่งพาเพียงสถาบันการศึกษาที่อาจไม่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีการสนับสนุนให้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นที่ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีให้กับบุคคลทั่วไป

ประเด็นที่ 3) การชำระเงินแบบดิจิทัล เวิลด์แบงก์ระบุว่า อาเซียนมีการพัฒนาด้านนี้ค่อนข้างน้อยเพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของระบบดิจิทัล และประชาชนยังนิยมการทำธุรกรรมด้วยเงินสดอยู่ จากรายงานของ Global Financial Inclusion (Findex) พบว่า มีผู้ใช้บริการในอาเซียนเพียง 19% ที่เข้าถึงข้อมูลบัญชีเงินฝากผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หากภาครัฐหันมาพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัลอย่างการจ่ายเงินบำนาญและการคืนภาษีก็จะเป็นแบบอย่างให้ภาคเอกชนปรับตัวตาม

“ประเทศไทยเองพึ่งมีการประกาศใช้กฎหมายดิจิทัลหลายฉบับเพื่อคุ้มครองการดำเนินธุรกรรมดิจิทัล เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัลหรือดิจิทัลไอดี ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัลลดความยุ่งยากของขั้นตอนการทำธุรกรรม”

โชว์ดิจิทัลพาร์ค-สมาร์ทซิตี้

ส่วนประเด็นที่ 4) การประสิทธิภาพของโลจิสติกส์ จัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ถ้าหากมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจก็จะช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์

โดยในรายงานนี้ได้แนะนำให้อาเซียนร่วมกันปรับระเบียบพิธีการด้านศุลกากรเพื่อความคล่องตัวของภาคธุรกิจ สำหรับประเทศไทยได้ส่งเสริมการสร้างพื้นที่ที่มีบริการดิจิทัลครบวงจรเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาอย่าง “ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์” และ “สมาร์ทซิตี้” ซึ่งได้เริ่มจัดตั้งขึ้นแล้วในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีการนำเทคโนโลยี 5 จีมาใช้เป็นพื้นที่แรกของไทย และจะมีการขอสิทธิพิเศษอย่างเรื่องการปลอดภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วย

ประเด็นที่ 5) ในรายงานธนาคารโลกได้กล่าวถึงเรื่องของการรวมตัวของภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ช่วยประสานกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ข้อมูลดิจิทัลสามารถไหลเวียนได้อย่างสะดวกและประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยประเทศไทยได้ผลักดันการจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาด้านไซเบอร์” ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อประสานประโยชน์ด้านกฎหมายต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2568

ไทยบังคับใช้ พ.ร.บ.ไซเบอร์

และประเด็นสุดท้ายคือ มาตรฐานและกฎระเบียบข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านความปลอดภัยไซเบอร์, ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงกระแสข้อมูลระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งไทยเองมีการผลักดันพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะครอบคลุมความปลอดภัยในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังจะมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลความมั่นคงทางไซเบอร์โดยตรง

“อาเซียนควรที่จะมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกัน โดยประเด็นทั้ง 6 ประเด็นที่รายงานของธนาคารโลกนำเสนอนั้น เราเชื่อว่าจะช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนสามารถขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มโอกาสให้กับทุกคนสามารถเข้าถึงประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้เทคโนโลยีอย่างมากมายด้วย” นาตาชา เบสชอร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายไอซีทีอาวุโส ธนาคารโลก กล่าวในท้ายที่สุด