ลุ้นโผ 4 รมต.เศรษฐกิจ สานต่องาน-บริหารงบฯ 1.25 แสนล้าน

จากเสียงโหวต 500 เสียงในรัฐสภา เมื่อค่ำคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ไทยก็ได้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ลำดับ 30 มาขับเคลื่อนประเทศ ลำดับต่อไป ทุกภาคส่วนต่างจับจ้องไปที่โผรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ ว่าจะมาจากพรรคใด โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ที่จะมาขับเคลื่อนภารกิจคั่งค้าง บริหารจัดการงบประมาณ 4 กระทรวงหลัก ที่มีมูลค่านับ 1.25 แสนล้านบาท ซึ่งกำลังฝุ่นตลบด้วยชื่อตัวเก็งจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา

ก.เกษตรฯ เกรดเองบฯแสนล้าน

แน่นอนว่ารัฐมนตรีใหม่ควรต้องเป็นบุคคลที่สามารถรับไม้ต่อภารกิจสำคัญที่ค้าง 4 กระทรวงได้ทันที โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเวลานี้เรียกได้ว่าเป็นกระทรวง (เกรดเอ) ที่เนื้อหอมที่สุด ปี 2562 ได้รับงบประมาณ 111,762 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 7,817 ล้านบาท เพราะดูแล GDP ภาคเกษตร และจำนวนเกษตรกรทั่วประเทศ โดยปัจจุบันโครงการสำคัญในกระทรวงมี 15 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับแหล่งน้ำ จนถึงระดับบิ๊กโปรเจ็กต์รวมกว่า 3,000 โครงการ

หากมองภารกิจภายใต้การบริหารงานของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กว่า 1 ปีครึ่งที่ดำรงตำแหน่งแล้วจะเห็นว่า ได้พยายาม “ปฏิรูปภาคเกษตร” เริ่มจากจัดแผนกำหนดโควตาทั้งพืช-ปศุสัตว์-ประมง ควบคู่ไปกับหลัก “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งเป็นคีย์สำคัญที่จะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลหน้า ให้ปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อลดความเสี่ยงจากพืชเศรษฐกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา ปรับสมดุลปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวและสร้างรายได้ทดแทน และเร่งรัดแก้หนี้สินเกษตรกร พร้อมขยายพื้นที่และส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนเพิ่มมูลค่า รวมถึงนโยบายระยะยาวในการแก้ปัญหาราคายาง ทั้งการแปรรูปยางภายในประเทศหรือเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ไม่ให้พึ่งการส่งออกเพียงอย่างเดียว อาทิ โครงการสร้างถนนผสมยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กม. รวมกับ อปท.

ขณะเดียวกัน งานด้านประมงที่แม้จะสามารถปลดล็อกการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) จนสำเร็จได้แล้ว ทว่าต้องเดินหน้าสร้างความยั่งยืนตามหลักสากล ส่วนภารกิจที่ยั่งคั่งค้าง คือ แนวทางการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีในการเพาะปลูกอย่างเป็นรูปธรรม การแก้ปัญหาจัดสรรโควตานมโรงเรียน รวมไปถึงนโยบายดูดซับปาล์ม

3 ภารกิจร้อนอุตสาหกรรม

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม มี 3 ภารกิจที่สำคัญรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ที่จะก้าวเข้ามาสานต่อทันที คือ 1) การเร่งพิจารณา พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงทั้งฉบับให้เสร็จภายในปี 2562 เพื่อใช้แก้เกมที่ไทยถูกบราซิลฟ้องในองค์การการค้าโลก (WTO)

2) การสานต่อนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นนโยบายหลักใหญ่ใจความที่สำคัญของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งานหลักก็ต้องไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักมูลค่า 6.5 แสนล้าน ต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนดระยะเวลาไว้ ระยะถัดไปคือการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย

และภารกิจ 3) แน่นอนว่ารัฐบาลชุดใหม่ต้องใช้เวลาพิสูจน์หลักฐานกรณีผู้ประกอบกิจการเหมืองทองคำอัครา ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยใช้คำสั่ง ม.44 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มิชอบ ผิดต่อความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยนับหมื่นล้านบาท ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเจรจาในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ประเทศไทยรักษาผลประโยชน์ไว้ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ภารกิจระยะยาวอื่นของกระทรวง เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs การตั้งโรงงานและบริหารจัดการเรื่องขยะ รวมถึงการสานต่อนโยบายหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีงบประมาณปี 2562 รวม 5,478 ล้านบาท ส่วนปี 2563 เสนอขอไป 14,535 ล้านบาท

สู้สงครามการค้า

ขณะที่งานด่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก หลังจากไทยต้องเผชิญผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจสหรัฐ-จีน สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก พร้อมกันนี้ รัฐบาลใหม่ต้องสานต่อการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ค้างอยู่ ทั้งความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่กำลังรอการเริ่มต้น การเดินหน้าต่อการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในภูมิภาค (RCEP) ที่มีเป้าหมายต้องให้จบในปีนี้

ในโอกาสที่ไทยรับตำแหน่งประธานอาเซียน และการพลิกฟื้นการเจรจาความตกลงเอฟทีเอไทย-อียู ภายหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับมา เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่ได้เร่งเจรจาความตกลงต่าง ๆ สร้างจุดแข็งในการแข่งขันไปก่อนแล้ว

ขณะที่ปัญหาปากท้องและราคาสินค้าเกษตร รัฐบาลใหม่ยังคงต้องมีมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะยาวในสินค้าที่กำกับดูแล ซึ่งมีทั้งข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง โดยเฉพาะ “ปาล์มน้ำมัน” ขณะนี้ถือเป็นปัญหายืดเยื้อผลพวงจากตลาดโลกซบเซา ทำให้มีสต๊อกค้าง และยังมีผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่อาจจะทะลักออกมามากกว่าปกติ 20 ล้านตัน การบรรเทาปัญหาในช่วงที่ผ่านมา คือ การใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า 2 ลอต ปริมาณ 360,000 ตัน แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการทำสัญญา และการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 ส่วนภาระค่าครองชีพและปากท้อง รัฐมนตรีคนใหม่ยังต้องขับเคลื่อนงานหิน ควบคุมกำกับดูแลสินค้ายา และเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ซึ่งเพิ่งจะถูกขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุม และต้องจับตาดูว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะยังคงนโยบายร้านธงฟ้าประชารัฐต่อไปหรือไม่ โดยขณะนี้ร้านธงฟ้าประชารัฐ มีจำนวน 60,873 แห่งแล้ว ทั้งหมดนี้ กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานภายใต้งบประมาณประจำปี 2562 มีเม็ดเงิน 6,337 ล้านบาท

วาระร้อนพลังงานไทย

ขณะที่กระทรวงพลังงาน แม้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ไปแล้ว และในช่วง 8-10 ปีแรก (2561-2568) ของแผน PDP จะยังมีการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) เข้าระบบ แต่ก็ยังต้องดำเนินการต่อในทางปฏิบัติ ทั้งการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) การทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนในปีนี้ ที่มีเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ ที่เพิ่งเปิดรับสมัครประชาชนเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการล้มหรือสานสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลอตแรก 1.5 ล้านตัน ซึ่งเดิมคาดว่าจะนำเข้าประมาณเดือนกันยายนนี้ หลังจากที่ผ่านมาผู้ยื่นประมูล 12 ราย ซึ่งบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี (มาเลเซีย) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาต่ำสุด แต่เนื่องจากเงื่อนไขการประมูลยังไม่ลงตัว และมีสัญญาณว่าอาจจะถึงขั้นล้มประมูล เนื่องจากการนำเข้า LNG จะเป็นการสร้างภาระให้ประชาชน และยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าในขณะนี้

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 การเตรียมปรับการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 แทน บี 7 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา และการดำเนินการปรับค่ามาตรฐานน้ำมันจากระดับยูโร 4 ไปสู่ยูโร 5 เพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ตามมติ ครม.ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้รับงบประมาณประจำปี 2562 รวม 2,318.9 ล้านบาท