“วนชัย” คัมแบ็ก ปรับกลยุทธ์ แก้ขาดทุน

วนชัย กรุ๊ป หรือ VNG ผู้ผลิตแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ wood-based panel ภายใต้สินค้า Particleboard, MDF Board, OSB Laminate Flooring บานประตูไม้ HDF ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผนัง ผลิตภัณฑ์ไม้พื้นและบัว และผลิตภัณฑ์ไม้พื้นบันไดและไม้ราวจับ เปิดตัว “วนชัย วู้ดสมิธ” พลิกฟื้นธุรกิจภายหลังขาดทุน นับตั้งแต่เมื่อปี 2561 ขาดทุนมูลค่า 371 ล้านบาท และไตรมาส 1 ของปี 2562 ขาดทุน 228 ล้านบาท ผลพวงจากสงครามการค้ากระทบต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศจีน

นายวรรธนะ เจริญนวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG เปิดเผยว่า การปรับโมเดลธุรกิจครั้งนี้ VNG ปรับลดสัดส่วนจากเดิมที่เคยพึ่งพาการส่งออก 80% ให้เหลือ 50% ให้ได้ภายในปี 2565 โดยการร่วมกับพันธมิตร บริษัท ไดนาสตี้เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ DCC บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกพัฒนาช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศ ทั้งยังพัฒนาสินค้าใหม่ ปรับลดต้นทุนด้านพลังงานโดยการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป้าหมายการปรับโมเดลธุรกิจครั้งนี้ สามารถเพิ่มยอดขายให้บริษัท 20,000 ล้านบาทในปี 2565

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่จึงได้เปิดตัวร้านค้า “วนชัย วู้ดสมิธ” ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท วนชัย วู้ดสมิธ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อพัฒนาธุรกิจค้าปลีกภายในประเทศ โดยจะมีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าโดยมีแผนจะขยายสาขาร้านแฟลกชิปสโตร์ให้เป็น 60-70 สาขาในปี 2564 และเพิ่มเป็น 100 สาขาในปี 2565 จากปัจจุบันที่พันธมิตร DCC มีสาขาอยู่ 20 สาขา ผลจากการขยายสาขาช่วยให้ยอดขายปี 2562 มากกว่า 300 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี หรือในปี 2565

ทุ่มลงทุนไฟฟ้า 3 พันล้านบาท

ในส่วนการลดต้นทุนการผลิตจากต้นทุนค่าไฟฟ้านั้นเป็นผลเนื่องจากราคาวัตถุดิบเศษไม้ปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาขาดแคลนเศษไม้ รวมถึงปัญหาสงครามการค้ากระทบต่อการส่งออกเฟอร์นิเจอร์จีนไปสหรัฐได้ลดลง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบเศษไม้จากจีนลดลงตามไปด้วย

บริษัทจึงได้เริ่มการขยายการผลิตไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวล (biomass) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ คาดจะสมบูรณ์ช่วงปลายปี 2563 และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน (solar rooftop) ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งเดินเครื่องแล้วประมาณ 3.5 เมกะวัตต์ (MW) ช่วยลดต้นทุนจากการรับซื้อจากโรงไฟฟ้าเหลือ 2 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันราคา 3 บาทต่อหน่วย ทางบริษัทจึงวางเป้าหมายปี 2565 จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจาก solar rooftop เพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ และโรงงานไฟฟ้าชีวมวล 40 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าลงทุน 3,000 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนทางการผลิต โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้ถึง 30% จากปัจจุบัน 70% และจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 4-5 ปีนับจากที่เริ่มลงทุน

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายการใช้วัตถุดิบหลักมาจากต้นยางพารา ต้นยูคาลิปตัส โดยนำมาใช้ทั้งต้นเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เช่น ลำต้นทำเฟอร์นิเจอร์ และเศษไม้ทำเชื้อเพลิงด้วย

ลอนช์ 2 สินค้าใหม่

ในส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง 2 รายการ จะเริ่มผลิตเฟสแรกในไตรมาส 4/2562 คือ แผ่น OSB กำลังการผลิต 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และในปี 2565 เพิ่มเป็น 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่าราว 5,200 ล้านบาท และแผ่นวีเนียร์เฟสแรก 300 และเพิ่มเป็น 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีมูลค่าการลงทุน 1,200 ล้านบาท พร้อมกับรักษาการผลิตและการทำตลาดแผ่นไม้ MDF และการผลิตแผ่นไม้ปาติเคิลต่อเนื่อง ซึ่งด้วยกลยุทธ์ทั้งหมดนี้จะทำให้รายได้และกำไรสุทธิกลับมาดีขึ้น โดยวางเป้าหมายผลประกอบการในปี 2562 ว่าจะขยายตัว 10% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 10,303 ล้านบาท