“บิ๊กตู่” ไล่บี้ กนศ.แก้เทรดวอร์ รับลูกเอกชนหนุนตั้งวอร์รูม

บิ๊กตู่นั่งประธาน “กนศ.” พิจารณาตั้ง War Room แก้เกมสงครามการค้า ด้านเอกชนแนะรัฐวางแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 1/2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับจากปี 2559 เบื้องต้นในการประชุมครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อติดตามและเตรียมรับมือกับปัญหาสงครามการค้า (Trade War) ที่เกิดขึ้น ซึ่งสืบเนื่องจากภายหลังที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชน กรณีปัญหาผลกระทบจากสงครามการค้า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ภาคเอกชนต่างเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีวาระรายงานเพื่อทราบ ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งอาจมีหลายข้อตกลงที่ต้องผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ โดยเฉพาะการเจรจากับคู่ค้าในตลาดเป้าหมาย เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในด้านการส่งออกของไทย และเป็นแผนรองรับกับปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

“เป้าหมายหลักเพื่อให้การส่งออกเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ผลักดันการส่งออกปี 2562 ขยาย 3% ซึ่งลดลงจากเดิมที่เคยวางไว้ 8%”

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบทางการค้าไปแล้ว 1.9% ของภาคการส่งออก แต่มองว่ายังไม่กระทบสูงนัก และจากปัญหาดังกล่าวก็ยังมีกลุ่มที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น รองเท้า เคมีภัณฑ์ เครื่องแต่งกาย ที่ยังมีโอกาสขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มที่เฝ้าระวังแต่สามารถปรับตัวได้ โดยกลุ่มนี้ต้องติดตามและหาแผนรองรับเพื่อผลักดันการส่งออกต่อไป

อย่างไรก็ดี แผนระยะสั้นที่ต้องเดินหน้าก่อน คือ การรุกตลาดใหม่ให้มากขึ้น หามาตรการป้องกันตัวเอง และติดตามเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์สินค้าไทย ส่วนระยะยาวเร่งเจรจา FTA เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบด้านการค้า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงแผนรับมือกระทรวงพาณิชย์จะนำไปหารือกับที่ประชุม กนศ. ในวันดังกล่าว ส่วนคณะทำงานที่ตั้งขึ้นนั้น ต้องการรูปแบบคณะทำงานของเอกชน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการหารือ ตัดสินใจ แต่จะเป็นการทำงานที่ร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยที่จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าว โดยบทบาทของคณะทำงานนอกจากติดตามสถานการณ์แล้ว ยังต้องการให้มีการวางยุทธศาสตร์ในการรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ควรมีแผนการทำตลาดที่ชัดเจนว่ามีวิธีการการดำเนินงานอย่างไร เพราะจากการประชุมทูตพาณิชย์ที่วางแผนมีเฉพาะแผนในภาพกว้าง แต่ขาดวิธีการที่จะดำเนินงานนั้นเป็นอย่างไร

ในส่วนเอกชนได้ปรับแผนรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะหากจะรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อาจล่าช้า และล่าสุด สรท.ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ขยายตัว 1% จากเดิม 3% ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาท 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ พร้อมเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินนโยบาย “Speed and Strategy” เพื่อรับมือกับสงครามการค้าอย่างรวดเร็ว ให้ทันต่อสถานการณ์