10 ปี ยื่นจดสิทธิบัตรพลังงานทดแทนเฉียด 1,000 คำขอ

กรมทรัพย์สินทางปัญญากระตุ้นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และประชาชน พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ พร้อมยื่นจดสิทธิบัตรเพื่อขอรับการคุ้มครอง เผยการยื่นจดสิทธิบัตรด้านพลังงานทดแทนของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวน 996 ฉบับ คาดแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน

นางสาววันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง “การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนของประเทศที่มีประสบการณ์เฉพาะด้าน มาให้ข้อมูลและแชร์ประสบการณ์ และประเมินทิศทางแนวโน้มธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในปัจจุบัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs นักประดิษฐ์ นักวิจัย และประชาชนที่สนใจ ได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ หรือพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

“กรมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ด้วยการสนับสนุนการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ ตามที่รัฐบาลได้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นร้อยละ 30 ของการพลังงานทดแทนทั้งหมดจากปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 18”น.ส.วันเพ็ญกล่าว

ทั้งนี้ การส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของไทย ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

ปัจจุบัน สถิติการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรด้านพลังงานทดแทนในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2008-2018 มีจำนวน 996 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 1.6 จากคำขอรับสิทธิบัตรทั่วโลก ที่ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 59,903 ฉบับ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน