“เจ้าสัว ธนินท์” เปิดใจสื่อนอกไม่ปิดกั้นคนนอกทายาทนั่ง CEO

ผู้ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP “ธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าสัวผู้ร่ำรวยมากที่สุดของประเทศไทย เปิดใจกับ “นิกเกอิ เอเชียน รีวิว” ยืนยันว่า มีความยินดีที่จะเปิดกว้างสำหรับคนนอก “ตระกูล” มานั่งเก้าอี้ซีอีโอ บริษัทกลุ่มธุรกิจด้านอาหารและการเกษตรขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

“ความตั้งใจเดิมเสมอมาของผม คือ เลือกสมาชิกในครอบครัวนั่งบนตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร แต่ตำแหน่งซีอีโอก็เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีความเหมาะสม และมีความสามารถเช่นกัน หากผมไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมในครอบครัวได้” เจ้าสัวธนินท์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ

เจ้าสัวธนินท์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าในปัจจุบันบุตรชายทั้ง 2 คน จะขึ้นมาอยู่บนตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร นั่นคือ “สุภกิต เจียรวนนท์” และประธานคณะผู้บริหาร ได้แก่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” หลังจากที่ผมก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2017 แต่ตำแหน่งดังกล่าวนี้ก็อาจจะอยู่ไม่นานเท่ากับผม ที่นั่งบริหารมาประมาณ 50 ปี

สุภกิต เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

ก่อนหน้านี้ ในเดือนม.ค. 2017 “ซีพี” กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของไทยนี้ ซึ่งบริหารงานโดยสมาชิกคนในครอบครัวมาตลอด ตัดสินใจปรับตำแหน่งของเจ้าสัวธนินท์ เป็นประธานคณะผู้บริหารอาวุโส

เจ้าสัวธนินท์ กล่าวกับ นิกเกอิฯ ว่าขณะนี้กระบวนการการสืบทอดอำนาจจากเขา ไปสู่บุตรชายเกือบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และกล่าวว่า ในแต่ละวันจะพยายามไม่เข้าไปยุ่งและแทรกแซงการตัดสินใจของบุตรชาย

อย่างไรก็ตาม นายธนินท์ กล่าวย้ำว่า แม้ว่าจะส่งต่ออำนาจให้กับบุตรชายทั้งสองแล้ว แต่กลับย้ำว่า ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะให้บุตรชายทั้งสองนั่งอยู่ในตำแหน่งนาน 50 ปีเช่นกับผม และกล่าวว่า “เราเหลือเวลาอีกไม่ถึง 9 ปี ในการถ่ายโอนอำนาจครั้งต่อๆ ไป”

ทั้งนี้ นายธนินท์ ได้ยกตัวอย่าง 2 ชื่อ ซึ่งถือเป็นทายาทที่มีศักยภาพ และเป็นไปได้ว่าจะสืบทอดอำนาจรุ่นต่อไปในอนาคต นั่นได้แก่ “ธนิศร์ เจียรวนนท์” บุตรชายคนโตของนายสุภกิต ซึ่งปัจจุบันบริหารงานในบริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในอินเดีย

ส่วนอีกคน คือ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” บุตรชายคนโตของนายศุภชัย โดยเขาเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสาร ตั้งแต่อายุได้เพียง 17 ปี นอกจากนี้ ในปี 2016 นายกรวัฒน์ ถูกจัดอันดับอยู่ในลิสต์รายชื่อ “Forbes Asia’s 30” นั่นคือ รายชื่อคนที่ร่ำรวยอายุน้อยกว่า 30 ปี

รายงานระบุว่า ในปี 1978 “จีน” เปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ “ซีพี” เป็นบริษัต่างประเทศรายแรกที่รัฐบาลจีนอนุมัติให้สามารถลงทุนได้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเสินเจิ้นในปีถัดไป

โดยเจ้าสัวธนินท์ กล่าวกับนิกเกอิฯ ว่าในปัจจุบันรายได้จากธุรกิจในไทยและจีนมีความใกล้เคียงกัน แต่เรามีเป้าหมายต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจในจีนมากกว่าไทย ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ ซีพี ไม่ใช่ธุรกิจในเอเชียรายเดียวที่บริหารโดยสมาชิกในครอบครัว และกำลังเปลี่ยนผ่านสืบทอดอำนาจในระดับผู้บริหารระดับสูง ไปสู่รุ่นต่อๆ ไป

ตัวอย่างจาก “ฮุนได มอเตอร์” ของเกาหลีใต้ ที่ถูกแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นให้ยกเลิกระบบโครงสร้างการสืบทอดอำนาจบริหารโดยสมาชิกครอบครัวแบบรุ่นสู่รุ่น

นอกจากนี้ยังมี “ไทย เซ็นทรัล กรุ๊ป” ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ที่เริ่มสรรหาผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ใช่สายใยครอบครัวเข้ามาเป็นผู้บริหารเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาการติดตามแนวโน้มการค้าปลีกและเทรนด์ดิจิทัลในอนาคต เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เป็นต้น