“หัวเว่ย-ZTE” รุกหนัก จดสิทธิบัตรสินค้าพลังงานทดแทน

หลังจากทั่วโลกหันมาตื่นตัวเรื่องการใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) อย่างมาก ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตื่นตัวพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในเวทีสัมมนาการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Renewable Energy Technology Trend Analysis for Sustainable Future) ซึ่งจัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการราวนด์อัพสถานการณ์เรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

นายวีระเวช อรธนาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซต์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานของประเทศไทยกว่า 85% มาจากน้ำมันก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ขณะที่พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ มหาสมุทร พลังงานชีวมวล และพลังงานใต้พิภพ ถูกนำมาใช้น้อยมาก ดังนั้น จะพบว่าการพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานของไทยยังน้อยหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ 

ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า การยื่นจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากลุ่มพลังงานในไทยมีประมาณ 800 ฉบับ เทียบกับการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรปีละ 16,500 คำขอ มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นประเภทที่มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรมากที่สุด รองลงมาเป็น กลุ่มพลังงานชีวมวล พลังงานลม และพลังงานน้ำตามลำดับ สำหรับประเทศที่ยื่นจดสิทธิบัตรมากที่สุดคือ จีน รองลงมา คือญี่ปุ่นและสหรัฐ

“โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศจีนเพิ่งจะมีการพัฒนาและเข้ามายื่นจดสิทธิบัตรผลงานด้านพลังงานได้ไม่นาน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่จดสิทธิบัตรงานนวัตกรรมในกลุ่มนี้มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะสิทธิบัตรพลังงานทดแทน ซึ่งประกอบไปด้วย 6 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานมหาสมุทร และพลังงานใต้พิภพ ขณะที่เบอร์ 2 อย่างญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรกลุ่มพลังงานใต้พิภพ ขอยื่นจดสิทธิบัตรน้อยกว่าทุกประเภท และมีการจดสิทธิบัตรพลังงานจากมหาสมุทรซึ่งออสเตรเลียยื่นคำขอเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถิติกลุ่มที่มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรมากที่สุดอย่าง “กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์” ทั่วโลก พบว่า ตั้งแต่ปี 2008-2019 มีคำขอทั้งสิ้น 105,945 ฉบับ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.68% หรือเฉลี่ยปีละ 9,000 คำขอ โดยประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการยื่นขอจดมากที่สุด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สหรัฐ เกาหลีใต้ ขณะที่ประเทศไทยมียื่นคำขอจดเพียง 312 ฉบับ หรือโตเฉลี่ย 0.3%

โดยหากวิเคราะห์ลึกลงไปในกลุ่มผู้ยื่นจดสิทธิบัตรเอเชีย พบว่า “กลุ่มหัวเว่ย” ผู้ประกอบการในธุรกิจด้านเทเลคอมมิวนิเคชั่นเป็นหลัก กลับเป็นบริษัทที่มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรด้านพลังงานมากที่สุด หรืออย่างบริษัท ZTE ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบโทรคมนาคม สะท้อนว่าจีนให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน และมีเป้าหมายคุ้มครองผลงานสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ถือเป็นการส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานให้จีนได้ในอนาคต ขณะที่ฟากฝั่งเกาหลี มีบริษัทซัมซุง บริษัท LG เป็นผู้นำการยื่นจดสิทธิบัตรมากขึ้นเช่นกัน

ส่วนประเทศไทยนั้น ในช่วง 10 ปีมีการยื่นคำขอสิทธิบัตร 800 คำขอ โดยสถิติจำนวนคำขอที่ยื่นจดสิทธิบัตรด้านพลังงานเฉลี่ยต่อปี 100 คำขอ ซึ่งหน่วยงานหลักที่จดมากที่สุดคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสำนักงานอาชีวศึกษา เป็นต้น ส่วนเอกชนยังมียื่นขอจดสิทธิบัตรไม่มาก ทั้งนี้ ภาพรวมการยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเป็นต่างประเทศ เช่น สหรัฐ จีน หรือมาเลเซีย ที่เข้ามายื่นจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองผลงานตนในประเทศไทย


ด้าน นายอภิชาติ คงแป้น วิศวกรฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มีหน่วยงานดำเนินการด้านนวัตกรรม ที่ผ่านมามีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ เครื่องตะบันน้ำ ซึ่งเป็นผลงานที่ทาง ปตท.ดำเนินการให้กับชุมชนได้ใช้งาน ซึ่งได้สร้างขึ้นให้กับชุมชนในจังหวัดปราจีนบุรีและราชบุรีได้ใช้งาน เป็นไปตามนโยบายซึ่งจะเน้นพลังงานทางเลือกที่นำไปให้ชุมชนได้ใช้งานจริง