40 กุนซือญี่ปุ่นหนุนหุ่นยนต์ ค่ายจีนตามติดปักธงอีอีซี

แฟ้มภาพ
เมติขนทัพ 40 บริษัทบิ๊กเนมญี่ปุ่น นั่งที่ปรึกษาหน่วยงานไทย เร่งเครื่องอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ สร้างระบบ-วิศวกร คาด 5 ปีลงทุน 3 แสนล้าน ยอดขอ BOI ไตรมาสแรกเพิ่มพรวดทะลุ 300% “SIASUN Robot” ค่ายจีนเล็งที่ดิน EEC อีก 1,200 ไร่ ผุด Smart Industrial Park 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานแนวโน้มการลงทุนพัฒนาต่อยอดธุรกิจโดยใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหุ่นยนต์-ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่าง ๆ “เริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้น” จากสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) 2562 โครงการเกี่ยวกับเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์มี 4 โครงการ เพิ่มขึ้น 300% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีเพียง 1 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการลงทุน 737 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8,089% จากปีที่แล้วมีการลงทุนเพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น

นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปเมื่อปี 2560 นั้น ถือเป็นแรง “กระตุ้น” ให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุน รวมถึงนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ล่าสุดในเดือนมิถุนายนนี้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญจาก 40 บริษัทญี่ปุ่น อาทิ Mitsubishi Electric System & Service, Sanmei Mechanical, Synergy-system, Takamaru Engineers, University of Tokyo, University of Tsukuba, HCI, BYNAS, TAIHO, TAIHO Industrial ได้เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย

“ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะเข้ามาแนะนำแต่ละอุตสาหกรรมควรใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแบบไหน ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร ลดต้นทุนได้เท่าไร คุ้มทุนในอีกกี่ปี และจะยังเป็นคนประสานดึงบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยหันมาใช้ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หรือให้ไทยเป็นซัพพลายเชน ซึ่งเป็นการสร้างดีมานด์ในประเทศ จากนั้นก็จะเข้ามาลงทุนตัวหุ่นยนต์ในไทยต่อไปในอนาคต ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการขยายการลงทุนให้ถึง 300,000 ล้านบาทใน 5 ปี (2560-2564) เริ่มจากทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ต้องมาก่อน ตามมาด้วยผู้พัฒนาระบบ (system integrator : SI) จากนั้นเราจะเห็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์ทั้งตัวตามมาในอนาคต” นายชิตกล่าว

ที่ผ่านมา BOI ได้พิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์-ปัญญาประดิษฐ์ไปแล้ว 4 ราย จากผู้ที่มายื่นขอทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วย 1) บริษัทนาชิ ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนแขนกลใน จ.ระยอง 2) บริษัทแองก้า เปิดสำนักงานที่ศรีนครินทร์และตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนแขนกลที่ จ.ระยอง 3) บริษัท Yaskawa ผลิตชิ้นส่วนประกอบ และล่าสุด 4) บริษัท SIASUN Robot จากจีน ซึ่งได้เข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ตั้งแต่ปี 2561 ต้องการพื้นที่ 1,200 ไร่ ใน EEC เพื่อลงทุนโครงการ Smart Industrial Park โดยจะสร้าง platform industrial 4.0 ซึ่งเป็นระบบบริการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบวงจรทั้งหมด โดยเบื้องต้นน่าจะลงทุนส่วน system integrator (SI) ก่อน

แนะ SCG-CPF ใช้ พ.ร.บ. EEC

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนของกลุ่มบริษัทผู้ใช้หุ่นยนต์ (demand side) ซึ่งพยายามจะยื่นขอ BOI เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่ไม่สามารถขอรับส่งเสริมได้เนื่องจากคำขอผิดเงื่อนไข โดยเป็นกิจการที่ไม่รับการสนับสนุนภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่แล้ว อาทิ กรณีของ SCG กลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ในกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริม เนื่องจากไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรืออย่างกรณีของ CPF เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านพลังงานนั้น ล่าสุดเพื่อให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้สามารถลงทุนใช้หุ่นยนต์ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ จึงมีการจัดทำข้อเสนอให้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายใต้ พ.ร.บ. EEC แทน พ.ร.บ. BOI แต่มีเงื่อนไขว่า ทุกโครงการจะต้องลงทุนอยู่ในเขต EEC เท่านั้น

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สิ่งทอ, อาหาร, เซรามิก, ยาง ได้นำระบบหุ่นยนต์เข้ามาปรับเปลี่ยนใช้ในโรงงานมากขึ้น เพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งแต่ละโรงงานมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนหุ่นยนต์ประมาณ 800,000 บาท/ตัว คุ้มทุนภายในเวลา 16-18 เดือน โดยแผนการส่งเสริมในอนาคตทางสถาบันไทย-เยอรมันจะให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) ทำหน้าที่บริหารจัดการ-สนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยบูรณาการความร่วมมือสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานเอกชนในต่างประเทศพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ รวบรวมที่ปรึกษาเพื่อแนะนำให้ผู้ซื้อ ผู้ใช้ ผู้ผลิต โรงงานรู้ว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติประเภทใดที่เหมาะสมกับโรงงานตนมากที่สุด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ CoRE ดำเนินงานมาในปี 2561-2562 มีโรงงานปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยนำระบบอัตโนมัติมาใช้ 229 โรง ผู้ประกอบการ 65 ราย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 9,641 ล้านบาท และมีผู้ขอสินเชื่อ SMEs เพื่อปรับระบบรวม 20 ราย มูลค่า 123.5 ล้านบาท มี SI ได้รับการอบรมและพัฒนาแล้ว 100 ราย มีต้นแบบหุ่นยนต์ได้รับการพัฒนาแล้ว 5 ต้นแบบ มีสมาชิกหน่วยงานเครือข่าย 15 แห่ง รวมถึงมีบุคลากรหรือผู้ใช้ 610 คน ก็ได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาตามโปรแกรม คาดว่าหลังจากการเปิดตัว Industrial Transformation Platform (ITP) ภายใต้โครงการ Robotic Cluster Pavilion ที่จะมีขึ้นในงาน MANUFACTURING EXPO 2019 โดยบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ในระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย.นี้ จะทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ สร้างโอกาสให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

ศึกษารอบคอบก่อนถูกหลอก

ด้านนายกัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสัญชาติไทยที่ทำงานให้กับแบรนด์ใหญ่ระดับโลกมากว่า 10 ปี กล่าวว่า ในปี 2561 ยอดขายของบริษัทขยายตัว 102% และ 4 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ปัจจุบัน) เติบโตกว่า 100% โดยปี 2562 บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 140-150 ล้านบาทจากการที่ประเทศไทยมีความตื่นตัวในการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานจำนวนมาก โดยมีบางอุตสาหกรรมพลิกจากไม่เคยใช้ระบบอัตโนมัติก็หันมาใช้ในทันที

ที่ผ่านมาการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้มักประสบปัญหาผู้ใช้ไม่มีความรู้ในการเลือกซื้อหรือขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายหรือโครงการที่เข้ามาช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจถึงการเลือกซื้อหุ่นยนต์ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมตนเอง เพราะหากไม่มีความรู้อะไรเลย บางครั้งลงทุนซื้อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาแล้ว “กลับใช้งานไม่ได้ ไม่ตรงตามความต้องการ” และบางกรณีโดน “หลอก” จากผู้ขายในต่างประเทศ นับเป็นปัญหาแรกที่พบสำหรับผู้ใช้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน ควรมีการตั้งศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะ โดยนำผู้เชี่ยวชาญเอกชนมาเป็นที่ปรึกษาและมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ซื้อ ซึ่งขณะนี้มีโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ลักษณะนี้อยู่ “แต่ยังไม่ครอบคลุม” ดังนั้น รัฐบาลควรมีโครงการดังกล่าวมากกว่านี้ และควรมีศูนย์หลักขึ้นมาอีก 1 แห่งที่ผู้ซื้อสามารถเข้ามาหาความรู้ ฟังการชี้แนะ หรือขอคำปรึกษาได้ โดยใช้ชาวต่างชาติที่เก่งด้านนี้และต้องการเกษียณที่ไทย เช่น ญี่ปุ่น จ้างเข้ามาเป็นที่ปรึกษา

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!