สทนช.รับลูก “บิ๊กตู่” ดึง3กูรูต่างชาติทำผังน้ำประเทศ ชงแผนป้องกันน้ำท่วมกทม.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 โดยในบทเฉพาะกาลมาตรา 103 ได้บัญญัติไว้ให้สำนักงานจัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณาภายในสองปี แต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงต้องดำเนินการจัดทำผังน้ำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มกราคม 2564 ซึ่งได้ให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ อาทิ เนเธอแลนด์ เกาหลีใต้ เยอรมนี มาร่วมหารือประเด็นกรอบแนวคิดการสร้างผังน้ำและการใช้งาน และว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันที่ปรึกษาดำเนินงานโครงการให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 270 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564

“การจัดทำผังน้ำภายใต้พ.ร.บ.น้ำฯครั้งนี้ จะครอบคลุมระบบน้ำทั้งหมดในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาวะปกติภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม เช่น บ้านที่อยู่อาศัยหรือโรงงานอยู่ในเขตพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ ระดับน้ำหลากที่เป็นไปได้ในคาบการเกิดต่างๆ นิคมอุตสาหกรรมที่จะก่อสร้างใหม่อยู่ในเขตน้ำหลากหรือไม่เป็น ตั้งอยู่ในพื้นที่กีดขวางการระบายน้ำหรือไม่ ระดับความสูงเท่าใดที่น้ำจะไม่ท่วมซ้ำซาก ช่องทางใดที่จะสามารถระบายน้ำหลากได้อย่างรวดเร็ว คำถามเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าผังน้ำจะช่วยให้คำตอบในเบื้องต้นได้”

นอกจากนี้ก่อนหน้านี้ที่ประชุม 9 หน่วยงานน้ำได้หารือร่วมกันในการพิจารณาแผนงานเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 1 -2 เดือน อาทิ การปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและวัชพืชที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงพื้นที่รับน้ำนอง เป็นต้น รวมถึงแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อพิจารณาเสนอแหล่งงบประมาณ โดย สทนช.จะรวบรวมแผนงานโครงการเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในวันนี้ (20 มิ.ย.62)

“นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงสถานการณ์ฝนที่ตกลงมายังต่อเนื่องในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงฤดูฝนนี้ ส่งผลให้เกิดการท่วมขังกระทบกับประชาชนในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการให้ สทนช.เป็นหน่วยงานกลางหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นระบบ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น การปรับปรุงและพัฒนาแผนการระบายน้ำ การขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนา” นายสมเกียรติกล่าว