ตั้งเป้าหลุดบัญชี 301 ถาวร US ซัดละเมิดหนัก “พัฒน์พงษ์-Shopee”

พาณิชย์เสนอ ครม.หวังแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐภายใต้มาตรา 301 อย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าอนาคตต้องหลุดจากทุกบัญชีในกฎหมายการค้าสหรัฐให้ได้ หลังรายงาน 2019 Special 301 Report ปีนี้ซัดไทยพบการละเมิดในตลาดพัฒน์พงษ์ กับ www.shopee

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เผยแพร่รายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ภายใต้มาตรา 301 พิเศษ ของกฎหมายการค้าสหรัฐ (2019 Special 301 Report) และรายงานการจัดทำบัญชีรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศคู่ค้า หรือ Notorious Markets ประจำปี 2562 ปรากฏได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางด้านสาธารณสุข และการจัดซื้อคอมพิวเตอร์โดยรัฐ

ทั้งนี้ สหรัฐยังคงกำหนดสถานะประเทศไทยให้อยู่ใน บัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List หรือ WL 1 ใน 24 ประเทศ) ต่อไปเป็นปีที่ 2 นับจากถูกปรับสถานะจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List หรือ PWL) ในปี 2560 (ไทยติดสถานะ PWL มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี) ส่วนในรายงาน Notorious Markets ได้กลับมาระบุชื่อตลาดภายในประเทศ 2 แห่ง ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ตลาดพัฒน์พงษ์ กับตลาดออนไลน์ www.shopee.co.th โดยมีข้อสังเกตว่า ในปี 2560 ไม่มีรายงานการละเมิดในตลาดของไทยปรากฏในรายงาน Notorious Markets อีก

การคงสถานะ WL ของประเทศไทยเกิดจากความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรม, ความพยายามในการแก้ไขปัญหา “งานค้างสะสม” จากการจดทะเบียนสิทธิบัตร-เครื่องหมายการค้า, การเข้าเป็นภาคีในพิธีสารมาดริด ว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นจดทะเบียนให้แก่ภาคเอกชนสหรัฐ และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮก ว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังมีความเห็นให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าละเมิดในตลาดออนไลน์, การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งในหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับมอบอำนาจ, การแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เพิ่มเติม และความโปร่งใสในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย-เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสาธารณสุข

ด้านแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงข้อเสนอของกระทรวงต่อรัฐบาล ให้สั่งการแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากทุกบัญชีในอนาคตว่า ด้านกฎหมายกำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อ “ยกระดับ” การคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงกระบวนการขอรับสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพ-สะดวก-รวดเร็วขึ้น

“การแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดผลในเชิงบวกต่อการพิจารณาสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสหรัฐในรอบต่อไป ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยขอให้ ครม.มีมติมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณากำหนดแนวทางในการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐบาลและภาคเอกชน จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในรายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของประเทศไทยมาโดยตลอด ตั้ง “ผู้รับผิดชอบ” ของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน เพื่อพิจารณา-กลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในขณะที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0

“ส่วนกรณีที่รายงาน Notorious Markets กลับมาระบุรายชื่อตลาดไทยที่มีการละเมิดอย่างกว้างขวาง 2 ตลาด คือ ตลาดพัฒน์พงษ์ กับการละเมิดใน www.shopee.com นั้น กระทรวงพาณิชย์กำลังประสานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว