ชาวบ้านผวาราคาหมู300บ. อหิวาต์แอฟริกาถล่มฟาร์มเพื่อนบ้านไทย

ชาวบ้านผวาราคาหมูแพง หลังโรคอหิวาต์หมูพ่นพิษถล่มอาเซียนวิกฤต กรมปศุสัตว์ระงับนำเข้าหมูลาว 90 วัน เตรียมถก สปป.ลาว 27 มิ.ย.นี้ “ไทย” ต้องส่งออกหมูไปช่วย ด้าน “สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ-ก.ค้าภายในประสานเสียงไม่ปรับขึ้นราคา ด้านทูตพาณิชย์ชี้โอกาสส่งออกหมูไปกัมพูชาฉลุย 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ขยายวงกว้างในอาเซียนหลายประเทศ โดยล่าสุดแพร่ระบาดจากกัมพูชาเข้าสู่ สปป.ลาว ทำให้ นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ต้องลงนามประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านสุกร หมูป่า ซากสุกร และซากหมูป่า จาก สปป.ลาว โดยให้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 90 วัน นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าราคาเนื้อสุกรชำแหละ อาจปรับขึ้นจาก 150 บาท เป็น กก.ละ 300 บาท ส่งผลต่อประชาชนและร้านอาหารตามสั่ง

ล่าสุดนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา โดยราคาสุกรหน้าฟาร์มอยู่ที่ กก.ละ 75 บาท ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ส่วนราคาเนื้อสุกรชำแหละอยู่ที่ กก.ละ 145-150 บาท

“แม้ว่าขณะนี้ปริมาณสุกรในตลาด (ซัพพลาย) จะลดลง เนื่องจากไทยจำเป็นต้องส่งสุกรมีชีวิตออกไปช่วยยังประเทศกัมพูชา เพื่อป้องกันไม่ให้ไปนำเข้าจากเวียดนาม ป้องกันการแพร่ระบาดของ ASF แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกนั้นไม่ถึงหลักพันตัว

เทียบกับปริมาณการเลี้ยงและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมี 45,000 ตัวต่อวัน จึงไม่ได้มีผลต่อราคาในประเทศ ยืนยันได้ 100% เลยว่าจะไม่เห็นราคาเนื้อสุกร กก.ละ 300 บาทแน่นอน แต่ที่น่าห่วง คือ เกษตรกรบางส่วนจะเร่งขายสุกรที่ยังไม่ได้น้ำหนักตามมาตรฐาน เพราะกังวลเรื่องโรคและจะไม่ลงเลี้ยงสุกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะต้องประเมินอีกครั้งว่ามีสัดส่วนประมาณเท่าไร”

สำหรับสถานการณ์การระบาดล่าสุดได้แพร่จากกัมพูชาเข้าประเทศ สปป.ลาวแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศว่าพบการระบาด 7 เคสใน จ.สาละวิน ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก 70-80 ตัว และมีฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยง 400 ตัว 1 ฟาร์ม

พื้นที่ดังกล่าวห่างจากชายแดนจ.อุบลราชธานี เพียง 200 กม. ทางภาครัฐบาลและเอกชนไทย และตัวแทนจาก สปป.ลาว OIE และ FAO จะประชุมร่วมกันในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือป้องกันและลดปัญหาการระบาด โดยฝ่ายไทยจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ทั้งการอบรมให้ความรู้ทางด้านวิชาการ เรื่องการฆ่าเชื้อ การใช้วัคซีน และหากเกิดปัญหาความรุนแรงมากขึ้นจะต้องยกระดับการป้องกันอย่างไร เช่น อาจจำเป็นต้องปิดด่านชายแดนบริเวณดังกล่าว และเร็ว ๆ นี้จะมีการเจรจาขายเนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็งแทนสุกรมีชีวิตด้วย

นายสุรชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมและภาคเอกชนรายใหญ่ ทั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะสำหรับขนส่งปศุสัตว์ที่ด่านกักสัตว์ชายแดน 5 จังหวัด และส่งมอบให้ฝ่ายพัสดุ กรมปศุสัตว์ดำเนินการต่อไป

“การป้องกันโรคที่ด่านมีทั้งพ่นยาฆ่าเชื้อรถบรรทุกปศุสัตว์ รถขนส่งวัตถุดิบที่เข้าออกชายแดนแบบไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งทุกคนต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

ขณะเดียวกันภาครัฐบาลไทยได้ยกระดับการป้องกัน ASF เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันดำเนินการป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งยังมีการอนุมัติเงินช่วยเหลือลอตแรก 58 ล้านบาท เพื่อจัดทำอบรมเชิงวิชาการ ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงความรุนแรงและแนวทางการป้องกัน การพ่นยาฆ่าเชื้อ และอาจ “จัดสรร” เงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อไม่ให้แพร่ลุกลามมายังประเทศไทยด้วย

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรค ASF อาจจะทำให้มีการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น แต่ไม่ได้กระทบต่อปริมาณซัพพลายในประเทศ ประชาชนไม่ต้องกังวล ทางกรมได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่า ผลผลิตจะมีเพียงพอต่อการบริโภค ประมาณปีละ 16 ล้านตัว ส่วนราคาจำหน่ายสุกรนั้น ทางกรมได้หารือกับสมาคม และได้รับการยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคาสุกรในแหล่งผลิตสำคัญ โดยขณะนี้ราคาสุกรหน้าฟาร์มอยู่ที่ กก.ละ 75 บาท และราคาสุกรชำแหละอยู่ที่ กก.ละ 150 บาท ซึ่งทางกรมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 โรคนี้ได้ระบาดใน 17 ประเทศ 3 ทวีป ส่งผลให้มีการทำลายสุกรไปเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นจีน 950,000 ตัว มองโกเลีย 2,992 ตัว เวียดนาม 46,600 ตัว กัมพูชา 400 ตัว และอยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 100 ตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลจากการที่รัฐบาลกัมพูชาเข้มงวดเรื่องการนำเข้าสุกรจากเวียดนาม จะเป็นโอกาสในการส่งออกสุกรของไทย และคาดการณ์ว่าระยะนี้ราคาเนื้อสุกรจะลดลง เพราะประชาชนกังวลต่อการบริโภค