ปตท.เขย่าลงทุนปี”62 เทงบฯ 3 หมื่นล้าน ลุยนวัตกรรมIT

หลังจาก นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. มีหนังสือแจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงผลประชุมคณะกรรมการบริหาร ปตท.เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ที่ได้พิจารณาทบทวนขยายแผนการลงทุนจาก 70,501 ล้านบาท เป็น 103,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,197 ล้านบาท

โดยมุ่งขยายการลงทุนในส่วนของธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม เพิ่มจาก 6,737 เป็น 41,175 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34,438 ล้านบาท และเพิ่มการร่วมทุนในส่วนของบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% จาก 37,100 ล้านบาท เป็น 40,050 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,950 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปตท.ได้ปรับลดการลงทุนทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียมขั้นปลาย และการลงทุนในส่วนของสำนักงานใหญ่ และอื่น ๆ ลงทั้งหมด

ปั้นทีม PTT accelerate

ล่าสุดในโอกาสได้พาคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการจัดการเมืองอัจฉริยะ (smart city) และโครงสร้างพื้นฐาน ณ สาธารณรัฐออสเตรีย และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ต้นแบบ smart city เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจองค์กร

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ชื่อว่า PTT accelerate เพื่อพัฒนางานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยใช้ทีมคนรุ่นใหม่ของ ปตท.ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เบื้องต้นมีจำนวน 10 แห่ง มหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งจะเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับทีมเดิม ExpresSo ที่จะคิดค้นนวัตกรรมที่จะมาเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ของ ปตท.ด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนเปิดสถาบันนวัตกรรม ปตท.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจจากคนรุ่นใหม่ (startup) เพราะมีจุดเด่นที่มีนักวิจัยคุณภาพจำนวนมาก

และเพิ่มสาขาปิโตรเลียม-ปิโตรเคมี บวกกับนวัตกรรมใหม่ ซึ่งขณะนี้ ปตท.ได้เริ่มลงทุน 2 แห่งแรก บริษัท บาเนีย ประเทศไทย โดยเป็นสตาร์ตอัพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นำ big data มาใช้ในอาคารและสตาร์ตอัพโดรนเพื่อพ่นแมลงทางการเกษตร ซึ่งได้เริ่มปรับเพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจของ ปตท.ให้เป็นไปตามเทรนด์ของโลกอีกทั้ง ปตท.ยังได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแพลตฟอร์มอินดัสทรี 4.0 ของประเทศไทย

โดยเน้นการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการผลิตของอุตสาหกรรมไทย โดย ปตท.ได้นำบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมทำงาน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้ผู้ใช้หุ่นยนต์โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีช่องทางเข้าถึงผู้ผลิตหุ่นยนต์ และผู้ผลิตระบบอัตโนมัติ (เอสไอ) มีสินเชื่อรองรับ ช่วยกระตุ้นตลาดทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตทั้งระบบอีกด้วย

“เราไม่ได้บอกว่าจะเลิกทำออยล์และก๊าซ เพราะเราโตมาจากตรงนั้นเพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ เพียงแต่จะฉีกไปทำอะไรที่มากกว่า การนำผลงานวิจัยจากคนรุ่นใหม่ก็จะพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพด้วย ที่ผ่านมาผลงานการวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยมักจะหยุดทำระดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีบริษัทที่ต้องกล้าที่จะลงทุนต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่ผ่านมา จึงเป็นจุดบอดของไทย เราต้องต่อยอดผลงานวิจัยเข้าสู่ธุรกิจ new S-curve ใหม่”

ลุยบางซื่อ Smart City 

ส่วนการลงทุน smart city บางซื่อ เมืองอัจริยะนั้น ยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะร่วมสนับสนุนผลักดันร่วมกับรัฐบาล และต่อยอดไปยังวังจันทร์วัลเลย์ โดยจะใช้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบ สิ่งที่จะได้รับนอกจากคุณภาพชีวิตคนบางซื่อและกรุงเทพฯดียิ่งขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะใช้โมเดลของ Aspern smart city ประเทศออสเตรีย โดยหัวใจหลัก คือ ต้องการจะลดคาร์บอนลงให้มากที่สุด และเชื่อมโยงคนรอบเมืองทั้งการใช้รถไฟฟ้าและโครงสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

เปิดทีโออาร์ EECi ดึงนักลงทุน

สำหรับความคืบหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ล่าสุดสถาบันวิทยสิริเมธีอยู่ระหว่างเร่งวิจัยผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งโรงงานต้นแบบจะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้าให้ได้มากขึ้น และถือเป็นการสอดรับแผนการลงทุนในปี 2562 ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 70,501 ล้านบาท เป็น 103,697 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33,196 ล้านบาท เพื่อจะมุ่งเน้นการลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทน และลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ด้านนางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงสร้างการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 3 ของปี 2562 นี้ ปตท.จะดำเนินการเปิดเผยร่างแผนจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) เพื่อให้เช่าพื้นที่ในส่วนของวังจันทร์วัลเลย์ หรืออีอีซีไอ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง 3 ส่วน ได้แก่ 1.การพัฒนาคอมมิวนิตี้มอลล์ 2.การพัฒนาโรงแรมและอพาร์ตเมนต์หรือส่วนพักอาศัยในพื้นที่ และ 3.การพัฒนาก่อสร้างโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่รวม 100 ไร่ และคาดว่าจะเปิดให้เช่าในระยะเวลา 30 ปี

“ตอนนี้มีเอกชนที่เตรียมเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีไอ เราจึงเตรียมเปิดทีโออาร์เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยคาดว่าในปี 2564-2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และแน่นอนว่าช่วงปีดังกล่าวเราจะเห็นการลงทุนของหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปตท.สผ. และระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และอาคารของ สวทช. ซึ่งพื้นที่อีอีซีไอเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปยังอุตสาหกรรม 4.0 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในหลาย ๆ เรื่อง ถ้าไม่ทำส่วนนี้การจะไปถึง 4.0 นั้นคงเป็นไปได้ยาก”

PTTOR เดินหน้าตามแผน

อีกด้านหนึ่ง กรณีที่แผนการลงทุนใหม่ของ ปตท.ได้มีการปรับลดการลงทุนในส่วนปิโตรเลียมขั้นปลาย และการลงทุนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น นางจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการลงทุนดังกล่าวเป็นการแยกกันคนละส่วน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องกับ flagship ใด flagship สามารถลงทุนได้

ก่อนหน้านี้ PTTOR วางเป้าหมายปริมาณขายน้ำมันรวมปี 2562 เติบโต 3% จากปี 2561 โดยจะมีการขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศ 155 แห่งในปี 2562 จากปัจจุบันที่มีราว 1,700 แห่ง รวมถึงมีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสถานีบริการน้ำมันด้วย 50 แห่ง เพื่อช่วยประหยัดไฟฟ้า 10-40% และมีกลยุทธ์เน้นการขายน้ำมันที่มีคุณภาพโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลพรีเมี่ยมมาตรฐานยูโร 5 น้ำมัน B20 จะเพิ่มจาก 16 เป็น 30 สถานี

รวมถึงการโคแบรนด์ cobrand ที่จะมาเช่าพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ส่วนความคืบหน้าการนำหุ้นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลและเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นแบบรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)