เทรนด์รักสุขภาพ-ร้านซูชิโต นำเข้าแซลมอนพุ่ง5,000ตัน

แฟ้มภาพ
แซลมอนนอกถล่มไทย 5 ปียอดนำเข้าพุ่ง 5 เท่า รับเทรนด์อาหารสุขภาพ ร้านอาหารญี่ปุ่น-ซูชิโตแรง สมาคมแช่เยือกแข็งชี้ผลพวง IUU จับปลายาก ต้องนำเข้าเพิ่ม ด้าน “แม็คโคร” รับอานิสงส์ตลาดโต ครองเบอร์ 1 ขายปลีกแซลมอนนอร์เวย์ต่อเนื่อง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีการนำปลาแซลมอนเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 7% โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้การนำเข้าได้กระโดดขึ้นไปถึง 20-30% โดยนำเข้ามาเพื่อใช้บริโภคเป็นหลักและนำมาแปรรูปเป็นแซลมอนกระป๋องและอาหารสัตว์ แหล่งนำเข้ายอดนิยมยังคงเป็นประเทศนอร์เวย์ จัดเป็นแซลมอนที่มีคุณภาพสูง รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, แคนาดา, อังกฤษ และสหรัฐ ส่วน “จีน” เริ่มมีการนำเข้าในอัตราการเติบโตสูงขึ้นเช่นกัน

“เป็นเทรนด์ความนิยมอาหารสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคเชื่อว่า แซลมอนมีสารอาหาร รับประทานง่ายกว่าปลาชนิดอื่น ๆ อีกทั้งอัตราการเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยสูงมาก โดยปี 2561 ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วประเทศไม่รวมพวกเทกอเวย์มีมากถึง 3,004 ร้าน หรือเพิ่มขึ้น 8.3% แบ่งเป็นภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.7% หรือ 749 ร้าน ร้านข้าวปั้นซูชิเพิ่มขึ้น 79.4% เป็น 454 ร้าน เป็นการขยายสาขาสู่ภูมิภาคด้วย หากเฉลี่ยช่วง 3 ปีย้อนหลังจะพบว่าภาพรวมร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตถึง 10.74% ประกอบกับมีการบังคับใช้มาตรการด้าน IUU อย่างเข้มงวดทั่วโลกจนการจับปลาจากธรรมชาติน้อยลง หันมาเลี้ยงแซลมอนมากขึ้นด้วย” นายวิศิษฐ์กล่าว

ทั้งนี้การนำเข้าแซลมอนยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปอาหารกระป๋องเพื่อการส่งออก อาทิ แซลมอนกระป๋องในน้ำมัน แซลมอนกระป๋องในน้ำแร่ และเป็นอาหารพร้อมรับทาน รวมถึงเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ ซึ่งก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มีการส่งออกแซลมอนแปรรูป 6,744 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1,635 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 20.7% โดยเป็นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ-ญี่ปุ่น-แคนาดา-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์

สอดคล้องกับความเห็นของนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าปลาแซลมอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแซลมอนเลี้ยงจากจีน ส่วนหนึ่งผู้ผลิตอาหารกระป๋องของไทยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปส่งออกและอีกส่วนนำมาบริโภคในประเทศตามร้านอาหารต่าง ๆ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบการนำเข้าสินค้ากลุ่มพิกัด 030214 ปลาแซลมอนแอตแลนติก (แซลโมซาลาร์) และปลาแซลมอนดานูบ (ฮูโกฮูโก) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มสินค้ายอดนิยม พบว่ายอดนำเข้าล่าสุด 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2562) มีปริมาณ 4,985 ตัน มูลค่า 46.9 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 3,564 ตัน มูลค่า 38 ล้านเหรียญ และหากตรวจสอบตัวเลขย้อนหลัง 5 ปี พบว่าปี 2561 นำเข้า 9,763 ตัน มูลค่า 93.4 ล้านเหรียญ เพิ่มต่อเนื่องเกือบ 5 เท่าในช่วงเวลา 5 ปี นับจากปี 2557 มีการนำเข้าปริมาณ 2,318 ตัน มูลค่า 20.6 ล้านเหรียญ สำหรับพิกัด 030214 มีแหล่งนำเข้าหลักมาจากประเทศนอร์เวย์จากผู้นำเข้าหลัก 5 รายคือ บมจ.สยามแม็คโคร, บจก.ลิน ทูน่า อินเตอร์เทรด, บจก.ฟู้ดโปรเจ็ค (สยาม), บจก.ซิมิรัน ฟู้ด โปรดักส์ และ บจก.ไดอะเมอร์แชนไดส์

ด้านนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม็คโครเป็นผู้นำเข้าปลาแซลมอนสดจากประเทศนอร์เวย์เป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (Norwegian Seafood Council) ระบุว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการบริโภคแซลมอนอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ

ขณะที่นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 1 กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญของ TU สามารถพลิกกลับมาสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 3.4% คิดเป็นมูลค่า 11,529 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากยอดขายแซลมอนที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนรายได้แซลมอนคิดเป็น 5% ของกลุ่ม

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!