ค่าบาทแข็งสุดในรอบ6ปี แห่นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย

บาทแข็งจูงใจนำเข้า “สินค้าฟุ่มเฟือย” ยอดของแต่งบ้าน เสื้อผ้า รองเท้า 5 เดือนกระฉูดทะลุ 10% ด้าน ส.สินค้าตกแต่งบ้าน โอดอาจขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ปรับราคาไม่ได้แข่งลำบาก 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของไทยปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงต้นปี กระทั่งล่าสุดได้ทุบสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยหากเปรียบเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย พบว่าไทยแข็งค่า 5.12% เป็นอันดับ 3 รองจากอันดับ 1 คือ เกาหลีใต้ แข็งค่า 8.95% และไต้หวัน 6.21% และมีแนวโน้มยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ประเด็นดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการส่งออกติดลบเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับผู้ผลิตจากการที่มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

โดยในช่วง 5 เดือนแรกมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้มูลค่า 11,566 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน โดยสินค้าที่มีการนำเข้าสูงสุด คือ เครื่องใช้ตกแต่งบ้าน เพิ่มขึ้น 14.9% เสื้อผ้า รองเท้า เพิ่มขึ้น 13.6% เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เพิ่มขึ้น 7.7% และเครื่องสำอาง 4%

ด้านนางพัทธ์ธีญา พสุจรัสพงศ์ นายกสมาคมสินค้าตกแต่งบ้าน กล่าวว่า ค่าบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าของสินค้าตกแต่งบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินบาทไทยสูงกว่าในภูมิภาคอาเซียน ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าชนิดเดียวกัน แม้กระทั่งค่าเงินรูปีของอินเดีย ส่งผลทำให้การแข่งขันของไทยลำบากมากขึ้น

ขณะนี้เป็นช่วงที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่คำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยตลาดสำคัญของสินค้าตกแต่งบ้านอยู่ในตลาดสหรัฐและจีนเป็นหลัก ดังนั้น การซื้อขายจึงได้กำหนดราคาไปแล้ว และตอนนี้เงินบาทแข็งค่าจึงทำให้ผู้ส่งออกจะได้เงินน้อยกว่ามาก ซึ่งกระทบต่อรายได้และทำให้ขาดทุนกับผู้ส่งออกและผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ส่งออก ผู้ผลิตดำเนินการได้ก็เพียงการทำประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนไว้เท่านั้น ซึ่งรับว่าเป็นต้นทุนของผู้ผลิตอย่างมากหากระยะสั้นก็อาจแบกรับได้ แต่หากในระยะยาวก็อาจจะกระทบต่อผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้านที่ต้องแบกรับต้นทุน จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังต้องการให้หน่วยงานที่สนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าตกแต่งบ้านเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการส่งเสริมการทำการตลาด การออกงานแสดงสินค้าให้ผู้ผลิต เพราะต้องยอมรับขณะนี้กิจกรรมดังกล่าวไม่มีเลย จากปกติที่เคยสนับสนุน จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของผู้ส่งออกในตลาดได้

อย่างไรก็ตาม ผลจากสงครามการค้าของสหรัฐและจีน ทำให้ 2 ประเทศอาจปรับเปลี่ยนมานำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทยมากขึ้น จึงต้องประเมินว่าในส่วนภาคส่งออกอาจจะยังมีส่งออกไปได้ เพราะมีออร์เดอร์เข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2561 ต้นปี 2562 แต่ปัญหาค่าบาทแข็งค่า ทำให้แลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทน้อยมาก ซึ่งผู้ส่งออกไม่แก้ไขโดยการปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดรับกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะสินค้าอาจไม่สามารถแข่งขันสู้กับคู่แข่งอื่นที่ไม่มีปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนได้ หากไทยปรับราคาสูงขึ้นอาจเป็นเหตุให้ลูกค้าหันไปนำเข้าคู่แข่งมากขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องประกันความเสี่ยง เพื่อช่วยเหลือตัวเองให้มาก