เอกชนหดเป้าส่งออกลบ1% G20ไม่เชื่อน้ำยา’ทรัมป์-สี คืนดีกันจริง

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
ข่าวดี “ทรัมป์-สี” ระงับสงครามการค้าชั่วคราวไร้ผล สภาผู้ส่งออกหดเป้าส่งออกติดลบ -1% เท่า กกร. พร้อมจี้รัฐบาลใหม่ดูแลเสถียรภาพค่าบาท 

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกปรับคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกปี 2562 ติดลบ -1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1% ซึ่งใช้สมมุติฐานค่าเงินบาท 33 บาท/เหรียญสหรัฐ การปรับเป้าหมายของ สรท.ครั้งนี้ สอดคล้องกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประเมินล่าสุดมีโอกาสติดลบ -1 ถึง 0% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าจะลดลงเหลือ 0% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.3%

สำหรับสาเหตุที่ สรท.ปรับลดเป้าหมายส่งออกนั้น เป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้าหลายประเทศมีปัญหา ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้า ประกอบกับภาพรวมการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมายังติดลบมากขึ้น ปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางการเมืองซึ่งมีผลต่อการดำเนินนโยบายการค้าต่าง ๆ

“การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสี จิ้นผิง ได้พบกันและยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนนั้น ส่งผลดีต่อการส่งออกระยะสั้น แต่ภาคเอกชนยังไม่มั่นใจว่าการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเคยเห็นหลายครั้งตกลงว่าจะไม่มีการปรับขึ้นภาษี แต่สุดท้ายก็ปรับขึ้นภาษีทุกที”

นอกจากนี้ยังต้องติดตามกรณีธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะมีผลกระทบต่อสกุลเงินหลัก เชื่อมโยงมายังค่าเงินบาท ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปัจจัยราคาน้ำมันมีความผันผวน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและมีผลต่อการแข่งขัน อุตสาหกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและปัจจัยการผลิตมีผลทำให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนมากขึ้น

สำหรับปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง สรท.ยังมองว่าแนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดอินเดีย-แคนาดา-รัสเซียยังขยายตัวได้ดี รวมไปถึงหากประเทศไทยในฐานะประธานการประชุมอาเซียนสามารถผลักดันการเจรจาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ได้สำเร็จภายในปีนี้ ก็จะส่งผลดีต่อการค้าในอนาคต


“สรท.ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเสถียรภาพทางการเงินไม่ให้มีความผันผวนหรือสอดคล้องกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะมีผลกระทบต่อต้นทุนของราคาสินค้าและศักยภาพในการแข่งขันและต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว” น.ส.กัณญภัคกล่าว