“ชุติมา” ฝากรมต.ใหม่ สานต่อ ‘ข้าวครบวงจร’ นโยบายตลาดนำการผลิต ย้ำนโยบาย “ประกันราคาไม่ผิด” แต่ต้องรอบคอบ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานของรัฐบาลใหม่โดยเฉพาะผู้บริหารที่ยจะเข้ามาดูแลเรื่องของสินค้าเกษตรการมีมาตรการใดๆนั้นยังมองว่า มาตรการหรือนโยบายตลาดนำการผลิตเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นใจความสำคัญและกระทรวงพาณิชย์เองก็ต้องบอกได้ว่าตลาดต้องการสินค้าอะไร

ส่วนมาตรการใดที่จะออกมานั้น เช่น การประกันราคาก็ต้องมีการหารือและพูดคุยกันเพราะนโยบายล้วนแล้วมีคนได้และคนเสีย อีกทั้ง การประกันราคานั้นก็ต้องพิจารณาในเรื่องของราคาด้วยจะสูงหรือต่ำเพราะจะมีผลกระทบต่อภาครัฐ อย่างไรก็ดี สินค้าที่ต้องการให้ความสำคัญมา คือ ข้าว เนื่องจากเป็นสินค้าหลักของประเทศ และมาตรการข้าวครบวงจรก็ต้องการให้เดินหน้าต่อไป

สำหรับข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลที่คงเหลืออีกประมาณ 9 แสนตัน ซึ่งยังไม่สามารถระบายได้ ขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้พิจารณาแนวทางการระบายข้าวดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 โดยเห็นชอบให้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) พิจารณาระบายข้าวสารคงเหลือ

โดยใช้หลักเกณฑ์การระบายข้าวของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก นบข. แล้วมากำหนดแนวทางการระบายต่อไป โดยให้ดำเนินการระบายข้าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562

ส่วนการวางรากฐานข้าวไทยเพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน นบข.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ข้าวไทย ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 ด้วยการใช้ภาคการตลาดนำการผลิต (Demand Driven) โดยในภาคการผลิต

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(1) ควบคุมพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวให้เหมาะสม

(2) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

(3) ยกระดับและเพิ่มมูลค่าข้าว

(4) สร้างความเข้มแข็งแก่ชาวนาและองค์กรชาวนา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สำหรับในภาคการตลาด

กระทรวงพาณิชย์

(1) พัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ

(2) สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว

(3) ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล

(4) พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว

(5) สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว

(6) เพิ่มมูลค่าข้าวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

(7) เชื่อมโยงห่วงโซ่ข้าวอย่างเป็นรูปธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กำหนดกลยุทธการส่งเสริมในตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ในตลาดเฉพาะ (specialty) อีกด้วย อาทิ ข้าวสุขภาพ ข้าวสี ข้าว GAP ข้าวอินทรีย์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบแปรรูป เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำนมข้าว อาหารเสริม และอาหารเด็กหรือผู้สูงอายุ (functional food) ภายใต้แผนข้าวครบวงจร เพื่อให้การพัฒนาตลาดข้าวไทยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางมีการทำงานที่สอดประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ

“และตลอดระยะเวลา 5 ปีที่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาและวางรากฐานแก่ข้าวไทย และการที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาและเข้ามาดูแลเรื่องสินค้าเกษตรและอาจจะทำลายนโยบายเดิมนั้น อย่าไปสรุปแบบนั้นเพราะมาตรการต่างก็ต้องสร้างความเข้มแข็งและมีการหารือกันเพื่อประโยชน์”

นางสาวชุติมา กล่าวอีกว่า สำหรับกระแสข่าวที่นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยอ้างว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการจำกัดสิทธิการคุมเข้มการขนย้ายข้าวเปลือก เพื่อป้องกันการปลอมปนข้าวพันธุ์ กข79 กับข้าวหอมมะลิ

รวมทั้งมีกรณีเกษตรกรและโรงสีบางแห่งมีความกังวลกรณีการห้ามขนส่งข้าวเปลือกข้ามเขตนั้น เป็นการเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้าและเป็นสินค้าในบัญชีควบคุม โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จึงได้ออกประกาศ มาตรการเรื่องการควบคุมการขนย้ายข้าวเปลือก ข้าวสาร เพื่อป้องกันการปลอมปนข้าวและการลักลอบนำเข้าข้าวมาจากต่างประเทศ

ซึ่งประกาศดังกล่าวมีการบังคับใช้มาต่อเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงที่รัฐบาลชุดก่อน ๆ ใช้มาตรการจำนำข้าวเปลือก โดยครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ได้มีการแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2558 ให้ควบคุมการขนย้ายให้จำกัดวงแคบลง เพื่อป้องกันปัญหาหรือส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าข้าวเปลือกคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาปลอมปน และไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรแต่อย่างใด โดยปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์จะอำนวยความสะดวกให้สามารถยื่นขออนุญาตผ่านระบบ Online ซึ่งคาดว่าระบบจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากและเป็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าตามที่เป็นข่าว ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการค้าข้าวอย่าได้ตื่นตระหนกกับมาตรการดังกล่า