แพคเกจจิ้งเอสซีจี ผนึกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดโครงการร่วมใจงดใช้โฟม-ถุงพลาสติก

เอสซีจี ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดโครงการ “ถนนข้าวสารรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมใจงดใช้โฟม และถุงพลาสติก” หนุนผู้ประกอบการร้านอาหารบนถนนข้าวสารใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนถุงพลาสติก-กล่องโฟมใส่อาหาร

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เอสซีจี ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เขตพระนคร สถานีตำรวจชนะสงคราม และ 7-eleven เปิดโครงการ “ถนนข้าวสารรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมใจงดใช้โฟม และถุงพลาสติก” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ถนนข้าวสาร ผ่านการรณรงค์สร้างจิตสำนึก และการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารบนถนนข้าวสารในการลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหาร โดยหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นางวิมล จันทร์เทียร ผู้อำนวยการแบรนด์บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ในธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมอบรมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารอย่างเหมาะสม ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารบนถนนข้าวสาร ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ในการเปิดร้านจำหน่ายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ภายในถนนข้าวสาร เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้าถึง และใช้งานบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ (Fest) ได้สะดวกและง่ายขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพ่อค้าแม่ค้า นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างความร่วมมือในการลด ละ เลิก การใช้โฟมและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อร่วมสร้างสังคมที่น่าอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร และ CEO บริษัท บัดดี้กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงในฤดูฝนของทุกปี ถนนข้าวสารจะเกิดน้ำท่วมจากถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์อาหารที่ลงไปอุดตัน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะดังกล่าว คือขยะพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหารตามท้องตลาดทั่วไปที่ไม่ได้ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลายได้

สมาคมฯ จึงร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในถนนข้าวสาร ลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหาร เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการลด ภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่รับรู้กันมานาน แต่การลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังที่ผ่านมาไม่มีมากเท่าที่ควร จนเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติและเหตุการณ์ที่ส่งผกระทบ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป และจะทำการวัดผลการดำเนินกิจกรรมโดยการตรวจวัดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารของผู้ประกอบการถนนข้าวสาร จนถึงปี 2565 โดยตั้งเป้าว่าถนนข้าวสารจะสามารถเป็นต้นแบบของสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งในกรุงเทพฯ ที่ปราศจากการใช้โฟมและถุงพลาสติกในการบรรจุอาหารได้ในที่สุด