ดัน “ไม้ไทย” โกอินเตอร์ ส.อ.ท.รับรองกำเนิดไม้เศรษฐกิจ

หลังจากสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council : TFCC) ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของ PEFC (The Programme for the Endorsement of Forest Certification)หน่วยปกครองการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้แห่งชาติ (National Governing Body-NGB) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 

ล่าสุด TFCC ได้นำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่ประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเทียบเคียงกับมาตรฐานของ PEFC อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จากนี้ไปการดำเนินการจัดการสวนป่าของไทยจะเป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐานสากลซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจไม้และเข้าสู่ตลาดโลกได้

ในงานสัมมนา Certified Wood Products-How to Respond to Market Requirements ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า แผนงานหลังจากนี้ คือ สำนักงาน TFCC สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ ส.อ.ท. จะเป็นตัวกลางประสานงานร่วมกับภาครัฐผ่านโครงการที่สนับสนุนภาคเกษตร เช่น ผู้บริโภคตรวจสอบไม้ต้นทางของสินค้าอย่างแพ็กเกจจิ้ง โดย TFCC จะเป็นผู้รับรองมาตรฐาน PEFC ให้

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานส.อ.ท. และประธานคณะกรรมการการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย และ สอก. กล่าวว่าระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย(TFCS) สามารถให้การรับรองที่เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนFM : Forest Management Standard (มอก.14061) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกรหรือผู้ปลูกสวนป่าไม้เศรษฐกิจ และมาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (มอก.2861)รวมถึงการรับรอง PEFC Chain of Custody (PEFC ST 2002) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไม้แปรรูป, ไม้ยางพารา, ไม้เพื่อพลังงาน, ไม้ประกอบ, เฟอร์นิเจอร์, ของเล่นเด็ก และไม้เพื่อการขนส่งและ

บรรจุภัณฑ์ ซึ่งการรับรองทั้ง 2 มาตรฐานนี้จะช่วยยืนยันได้ว่าไม้ต้นทางมาจากแหล่งใด เป็นไม้ที่ถูกต้อง ไม่ได้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คู่ค้าต่างประเทศที่ต้องการมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ซึ่งนับเป็นใบเบิกทางให้สามารถข้ามกำแพงการค้าไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าไม้ได้กว่าแสนล้านบาท

ล่าสุด บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนไทยรายแรกที่เข้าร่วมการรับรองด้วยมาตรฐาน PEFC จากนั้นจะมีเอกชนอีกหลายรายตามมา

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ Director of Public & Private Liaison Office บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า ปัจจุบัน SCG ใช้ไม้กว่า 10 ล้านตัน เพื่อผลิตเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มต่าง ๆ อย่างแพ็กเกจจิ้ง

โดยกว่า 3 ล้านตันเป็นไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกในภาคตะวันตกและภาคอีสาน โดยกว่าสัดส่วน 80% เป็นการปลูกแบบตามไร่คันนาไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อถูกแรงกดดันจากลูกค้าต่างประเทศ SCG จำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการ โดยนำนวัตกรรมเข้ามาใช้และให้การรับรองไม้ที่ปลูกเหล่านี้ว่าไม่ใช่การปลูกแบบถางป่า

นางสาวธิญาดา ควรสถาพร ผู้บริหารบริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทคือผู้จำหน่ายและจัดส่งเชื้อเพลิงชีวมวลจากกะลาปาล์ม ไม้ยาง ขี้เลื้อยอัดแท่ง ขี้กบ ไม้ท่อน ปีกไม้ แกลบ ป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป สามารถผลิตได้ประมาณ 55,000 ตัน และเมื่อมีการรับรองมาตรฐาน PEFC ทำให้คู่ค้ามั่นใจกับสินค้าช่วยให้มูลค่าสินค้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย

“บริษัทได้คุยกับชาวสวนและเกษตรกร เพื่อเตรียมตัวกับการใช้มาตรฐานการรับรองนี้มาแล้ว 1 ปี เพื่อเตรียมยื่นขอมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจว่าการปลูกไม้เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการถางป่า และปลูกด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย”

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ผู้บริหาร บริษัท เล-ซี-บอย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งใช้วัสดุจากไม้ให้ความสำคัญกับการดูแลระบบสินค้า


ดังนั้นแหล่งที่มาของไม้จะต้องถูกต้องและได้มาตรฐาน การที่ไทยมีการรับรองไม้เศรษฐกิจเหล่านี้ขึ้นมา จะเป็นส่วนสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งคู่ค้าลูกค้า และเป็นเรื่องสำคัญที่ในหลายประเทศเริ่มทำการตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ เพื่อไม่ให้ไม้นั้น ๆ มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อม