โรงสีข้าวขาดสภาพคล่องหนัก แบงก์ลดเงินกู้สะเทือนนาปรัง

โรงสีข้าวทั่วไทยขาดสภาพคล่องเหตุแบงก์เหวี่ยงแห “ระงับแพ็กกิ้งเครดิต” แสนล้าน เหตุเสี่ยงสูง “กรุงไทย” แบกสินเชื่อเต็มเพดาน 5 หมื่นล้าน ไม่ปล่อยกู้เพิ่ม โรงสีภาคใต้ 50% ไม่มีเงินซื้อข้าวนาปรัง 6 แสนไร่ สมาคมร้องรัฐบาลใหม่-แบงก์ชาติคลายกฎ 

นายลิขิต เลขาพันธ์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงสีข้าวในภาคใต้กำลังประสบปัญหาจากนโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวด ทำให้กว่าครึ่งของโรงสีข้าวที่เป็นสมาชิกของสมาชิก 100 รายซึ่งผลประกอบการดี ถูกกระทบไปด้วย

“จึงอยากเสนอรัฐบาลใหม่ และสถาบันการเงินควรจำแนกพิจารณาเป็นราย ๆ ไปไม่ใช้มาตรการแบบเหวี่ยงแหทั้งประเทศซึ่งจะส่งผลให้หนี้ดีจะกลายเป็นหนี้เสียได้ ทั้งรัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนโรงสีข้าวและชาวนา ด้วยการหาแหล่งสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ มาสนับสนุนการซื้อข้าวจากชาวนา เพื่อให้ได้ราคาที่ดี และซื้อข้าวได้ปริมาณตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ราว 20%”

พื้นที่ที่มีการปลูกข้าวทดแทนปาล์มน้ำมัน ยางพาราที่ราคาลดลง ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง เพิ่มจาก 4 แสนไร่ เป็น 5-6 แสนไร่ โดยคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่ม 4 แสนตัน มูลค่าราว 3,600 ล้านบาท ซึ่ง 5 ปีนี้ราคาข้าวในภาคใต้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องหลังไม่มีโครงการรับจำนำข้าวโดยข้าวหอมปทุม ราคา 10,000 บาท/ตัน ข้าวขาวนุ่ม 9,000 บาท/ตัน และข้าวขาว ราคา 8,000 บาท/ตัน และมีข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง เช่น สังข์หยดขายได้ราคาดี

ธปท.ขอแบงก์รับซื้อข้าวทุกเมล็ด

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการสมาคมโรงสีข้าวไทย โดยเชิญนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงินและทีมงาน จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและวงเงินสินเชื่อ และนโยบายของธนาคารพาณิชย์ต่อกลุ่มธุรกิจโรงสี ซึ่ง ธปท.ได้รับทราบ และจะประสานงานไปยังธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้โรงสีข้าวเกิดศักยภาพความคล่องตัว สามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้ทั้งหมด

นาปรัง 6 แสนไร่ใช้เงินกู้ 4 พัน ล.

นายสมศักดิ์ พานิช เจ้าของโรงสีข้าวทิพย์พานิช ในฐานะประธานชมรมโรงสีข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคใต้เป็นฤดูกาลทำนาปรัง จะเก็บเกี่ยวก.ย.-ต.ค. นี้ หากธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้เพียงพอต้องใช้วงเงินราว 3,000-4,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ธนาคารได้ระงับการปล่อยสินเชื่อให้โรงสีข้าว แม้บางแห่งผลประกอบการดีไม่เคยเสียเครดิต มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ธนาคารให้เหตุผลว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น มีเพียงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ให้สินเชื่อเพิ่มแต่ไม่มากนัก ทำให้โรงสีข้าวบางแห่งขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนซื้อข้าวจากชาวนา ขณะที่โกดังเก็บข้าวไม่เพียงพอ และธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ให้มาปรับปรุง

“สำหรับในกลุ่มโรงสีข้าวทิพย์พานิชรับซื้อข้าว ความชื้น 20% ราคาประมาณ 7,300 บาท/ตัน ซื้อได้จำนวนจำกัด เมื่อหมดเงินทุน ปรากฏว่าราคาข้าวกลับร่วงลงเหลือ 6,300 บาท/ตัน ตอนนี้โรงสีข้าวและชาวนาเหมือนถูกมัดมือมัดเท้าไม่มีทางออก ต่างอยู่ในโลกมืดทั้ง 2 ฝ่ายเคยนำเสนอไปยังรัฐบาลหลายครั้ง สภาพปัจจุบันการเมืองก็มีความเสี่ยง” นายสมศักดิ์กล่าวและว่า

ปัจจุบันด้วยสภาพทางเศรษฐกิจต้องใช้เงินสดซื้อ ไม่มีเครดิต 15 วัน 1-2 เดือนต้องปิดรับซื้อ จนส่งผลกระทบต่อชาวนา ไม่สามารถขายข้าวให้กับโรงสีในพื้นที่ได้ จึงนำไปขายยังภาคกลาง และที่กรุงเทพฯต้องเสียค่าขนส่งประมาณ 600-700 บาท/ตัน ถูกหักความชื้น 500-600 บาท/ตัน เพราะความชื้นสูงขึ้นถึง 28-30% และค่าบริหารจัดการลานอีก 300 บาท/ตัน เป็นเงินเกือบ 1,500 บาท/ตัน ส่งผลให้ชาวนามีต้นทุนเพิ่ม เงินรายได้หดหายไป จะเหลือราคาข้าวประมาณกว่า 5,000 บาท/ตัน

กระทุ้งรัฐกู้วิกฤตแพ็กกิ้งเครดิต

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ได้มีการประชุมร่วมกับสมาชิกโรงสี เพื่อหาทางช่วยเหลือกรณีที่โรงสีทั่วประเทศ ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจากการที่สถาบันการเงินลดวงเงินแพ็กกิ้งเครดิต ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจจะส่งผลต่อการซื้อขายข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพราะโรงสีถือเป็นผู้ประกอบการขั้นกลางในอุตสาหกรรมข้าว โดยหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเรื่องนี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่

“ปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 4-5 ปีก่อนจากสถานการณ์ราคาข้าวปรับลดลงทำให้มูลค่าข้าวสต๊อกลดลง สถาบันการเงินขอให้โรงสีเพิ่มวงเงินทำแพ็กกิ้งสต๊อก แต่โรงสีบางส่วนมีปัญหาวงเงินจำกัด ไม่สามารถเติมแพ็กกิ้งสต๊อกได้ จึงเกิดภาระหนี้ค้างและมีการดำเนินคดี ส่งผลเชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบัน ที่เคยเสนอกระทรวงพาณิชย์หารือกับ ธปท. ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแยกประเภทลูกค้า อย่าเหมารวมทั้งอุตสาหกรรม 1,400 โรง”

ทั้งนี้ วงเงินแพ็กกิ้งเครดิตในแต่ละปีมูลค่า 100,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยมีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากเดิมที่เคยให้วงเงินถึง 80,000 ล้านบาท อันดับ 2 คือ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งปัจจุบันปรับลดวงเงินลง 30-40% จากเดิมให้วงเงินประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท จะไม่มีการพิจารณาปล่อยแพ็กกิ้งเครดิตให้กับรายใหม่ ๆ ส่วนอันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีนโยบายภายในที่ไม่ปล่อยแพ็กกิ้งเครดิต และอันดับ 4 คือ ธนาคารทีเอ็มบีและธนาคารไทยพาณิชย์

กรุงไทยคุมปล่อยกู้ใหม่

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันธนาคารไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าว เพราะปัจจุบันธนาคารปล่อยกู้ให้แก่โรงสีทั้งประเทศ สัดส่วน 55-60% ของอุตสาหกรรมโรงสีข้าว โดยวงเงินทั้งพอร์ตอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่สามารถปล่อยกู้เพิ่มได้มากกว่านี้ เนื่องจากตามปกติแล้วสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ๆ จะไม่ปล่อยกู้ผู้กู้รายเดียวกันหรืออุตสาหกรรมเดียวกันเกิน 30-40%”

กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวด้วยว่า ธนาคารปล่อยกู้โรงสีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเป็นหลัก ไม่ได้ปล่อยให้โรงสีในภาคใต้

“ชุติมา” ถกโรงสี 

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจะมีการประชุมกับทางสมาคมโรงสีข้าวไทย ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยจะหารือถึงสถานการณ์การผลิตข้าวเปลือกนาปรัง และนาปี 2562/2563 ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยลงกว่าการคาดการณ์ปกติ และทางกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯซึ่งดูแลในส่วนการผลิตอาจจะต้องมีการลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งหนึ่งก่อนจะประเมินอีกครั้ง และจะมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการออกประกาศเรื่องการขนย้ายข้าว ซึ่งเป็นประกาศที่มีมานานแล้ว ทางสมาคมเข้าใจผิดว่าเพิ่งจะประกาศ และเกรงว่าจะกระทบต่อระบบการค้าข้าว

“ส่วนปัญหาเรื่องสภาพคล่องโรงสีเป็นที่มีการคุยกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานไปยังกระทรวงการคลัง และ ธปท.ขอให้ช่วยประสานสถาบันการเงินภาครัฐ เช่น ธ.ก.ส. เข้ามาช่วย ซึ่งหลังจากประสานแล้ว โรงสีส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่า ไม่สามารถเปลี่ยนไปขอเครดิตจากสถาบันการเงินที่ประสานให้ได้ เพราะไม่เคยเป็นลูกค้ากันมาก่อน แต่ทางภาครัฐเองก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการกำหนดนโยบายของสถาบันการเงินภาคเอกชนได้ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารของแต่ละแห่ง และการพิจารณาความเหมาะสมการปล่อยสินเชื่อของแต่ละราย หากโรงสียังมีปัญหานี้และเกรงว่าจะกระทบต่อสภาพคล่องก็ต้องคุยกันอีกที”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!