พาณิชย์ขึ้นทะเบียน 3 สินค้า GI “กาแฟเทพเสด็จ-ส้มโอหอมควนลัง-ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน”

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI เพิ่มอีก 3 รายการ ได้แก่ กาแฟเทพเสด็จ (จ.เชียงใหม่) ส้มโอหอมควนลัง (จ.สงขลา) และลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน (จ.ลำพูน) โดยปัจจุบันกรมประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไปแล้วทั้งสิ้น 93 รายการ แบ่งเป็น คำขอไทย 79 รายการ ต่างประเทศ 14 รายการ และอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนอีก 60 รายการ

โดยสินค้า GI นั้น ต้องเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีประวัติความเป็นมาและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแหล่งผลิตแต่ละแห่ง จึงจะทำให้ได้สินค้า GI ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์โดดเด่น และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าทั่วไปได้ โดยสินค้า GI 3 รายการล่าสุดนั้น มีคุณสมบัติที่เหมาะสม กล่าวคือ กาแฟเทพเสด็จ (Thepsadej Coffee) เป็นกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์คาติมอร์ คาทูรา และคาทุย ที่ปลูกร่วมกับป่าไม้และสวนชา (เมี่ยง) บนพื้นที่ระดับความสูง 1,100-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในพื้นที่ ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จนได้กาแฟที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ด้านส้มโอหอมควนลัง (Pomelo Hom Khuanlang) เป็นส้มโอที่เปลือกมีความหอมพิเศษโดดเด่นแตกต่างจากส้มโออื่น โดยมีผลกลมสูง ไม่มีจุก น้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 1-2.5 กิโลกรัม เนื้อสีชมพูเข้มถึงแดง เนื้อผลนิ่มฉ่ำ เนื้อกุ้งกรอบ เมล็ดลีบถึงไม่มีเมล็ด รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่ขม ปลูกในพื้นที่เทศบาลเมืองควนลัง ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ส่วนลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน (Lamphun Biaokhiao Longan) เป็นลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวป่าเส้า ผลกลม ผิวเปลือกขรุขระ สีน้ำตาลปนเขียว เนื้อแห้งแน่นสีขาวขุ่น รสชาติหวานหอม เมล็ดสีดำมันกลมและแบนด้านข้าง ปลูกในพื้นที่ 6 ตำบล ของ อ.เมือง จ.ลำพูน ได้แก่ ต.หนองช้างคืน ต.อุโมงค์ ต.เหมืองง่า ต.ต้นธง ต.ริมปิง และต.ประตูป่า

นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีสถิติการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้า GI รวมทั้งสิ้น 158 คำขอ แบ่งเป็นคำขอไทย 136 คำขอ ต่างประเทศ 22 คำขอ โดยในปีงบประมาณ 2560 นี้ มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจำนวน 13 คำขอ ได้แก่ ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน กาแฟดอยป่าแป๋ลำพูน (จ.ลำพูน) ทุเรียนศรีสะเกษ (จ.ศรีสะเกษ) ไวน์เขาใหญ่ กาแฟวังน้ำเขียว ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ (จ.นครราชสีมา) เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ (จ.นครสวรรค์) ทุเรียนทรายขาว (จ.ปัตตานี) ส้มบางมด ลิ้นจี่บางขุนเทียน (กรุงเทพฯ) เนื้อโกเบ (Kobe Beef) เนื้อทาจิมะ (Tajima Beef) และเมล่อนยูบาริ (Yubari Melon) (ประเทศญี่ปุ่น)

ทั้งนี้ กรมวางนโยบายในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปี พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้า GI อย่างน้อย 1 จังหวัดต่อ 1 สินค้า โดยกรมตั้งเป้าหมายให้มีสินค้า GI ครบทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันพบว่ามี 70 จังหวัดที่มีการยื่นคำขอแล้ว เหลืออีกเพียง 7 จังหวัด ที่กรมต้องผลักดันให้มีการยื่นคำขอต่อไป พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดทำระบบตรวจสอบควบคุมมาตรฐานเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า GI ต่อไปด้วย

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์