กรมการค้าภายในขยายเวลาให้โรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง แจ้งราคาซื้อขายยาเป็นวันที่ 31 ก.ค. พร้อมเลื่อนวันติด QR Code เป็น 15 ส.ค. ย้ำราคาที่แจ้งจะถือเป็นข้อผูกมัด เผยล่าสุดมีประชาชนร้องเรียนค่ายา ค่ารักษาแพงแล้วกว่า 10 ราย
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ขยายระยะเวลาให้โรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง แจ้งราคาซื้อขายยาในกลุ่มบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ (UCEP) และรายการยาที่มีการจำหน่ายสูงสุด รวม 3,992 รายการ มายังกรมฯ เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.2562 จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 12 ก.ค.2562 หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงรายการสินค้าและบริการในบัญชีสินค้าและบริการควบคุมใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2562 ที่ผ่านมา และล่าสุด มีโรงพยาบาลเอกชนได้จัดส่งราคาซื้อขายยามาแล้วประมาณ 20 โรงพยาบาล
ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อมูลราคายามาครบแล้ว กรมฯ จะจัดทำราคาซื้อขายขึ้นไว้ในเว็บไซต์ของกรมฯ โดยมีรายละเอียดราคายาแต่ละชนิด ราคาของแต่ละโรงพยาบาล แล้วจัดทำเป็น QR Code เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนนำไปติดไว้ในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยตรวจสอบได้ โดยได้เลื่อนเป็นภายในวันที่ 15 ส.ค.2562 จากเดิมวันที่ 29 ก.ค.2562
“ราคายาที่โรงพยาบาลเอกชนส่งมาให้กรมฯ ไม่ว่าจะเป็นราคาใด กรมฯ จะถือว่าเป็นราคาซื้อขายที่ผูกมัดโรงพยาบาลว่าขายในราคานี้ จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการแล้วเจอคิดแพงกว่านี้ หรือมีการคิดราคาไม่ตรงตามที่แจ้งเอาไว้ ก็จะมีความผิด หรือกรณีที่มีการปรับขึ้นราคา ก็ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคามายังกรมฯ ก่อน แล้วกรมฯ จะนำไปปรับปรุงในบัญชีราคายาที่อยู่ในเว็บไซต์ให้เป็นปัจจุบันต่อไป”
อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลเอกชนไม่ติด QR Code เพื่อแสดงราคาจำหน่ายยา จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 2 พันบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีประชาชนร้องเรียนเรื่องราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีกว่า 10 ราย ซึ่งบางกรณี กรมฯ
ได้แจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจไปแล้ว และบางกรณีกำลังตรวจสอบว่ามีการคิดราคาแพงจริงหรือไม่ ถ้าพบว่ามีการคิดราคาแพงเกินจริง ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป