เอกชน 3 สถาบันถกปรับลดจีดีพี ผวาส่งออกติดลบส่งสัญญาณ “เลิกจ้าง”

เอกชน 3 สถาบัน ประชุมร่วมทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจ เผยดัชนีความเชื่อมั่นครึ่งปีหลังลดลงต่อเนื่อง ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีปีนี้โต 3.1% สารพัดปัจจัยทุบส่งออกติดลบ -1.6% จับตาภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับลดการจ้างงาน ลุ้นปลายปีรัฐบาลใหม่ทุ่มเม็ดเงิน 2 หมื่นล้านบาท กระตุ้นระยะสั้นพยุงเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ จะมีการพิจารณาทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายในและต่างประเทศ ภายหลังจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง และคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ยังมีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้จากที่ตัวเลขส่งออกยังติดลบ และการจะผลักดันให้กลับมาเป็นบวกไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องประเมินว่าจะกระทบต่อภาคการผลิตอย่างไรบ้าง ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจะปรับลดการจ้างแรงงานนอกเวลา (โอที)

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะทำงานร่วมรัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศ มีกำหนดจะหารือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในปลายเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และผลักดันการส่งออกในรายอุตสาหกรรม พร้อมทั้งแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐที่จะเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนภาคการส่งออก

“ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่านอกจากจะกระทบภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลายกลุ่มแล้ว อุตสาหกรรมการเกษตรก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจากรายได้ส่งออกที่ลดลง ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับจีนที่หลายอุตสาหกรรมเป็นคู่แข่งของไทย เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของจีนถูกกว่าของไทยถึง 10% ดังนั้นโอกาสที่ประเทศไทยจะแข่งขันได้ยากขึ้น การส่งออกในปีนี้มีโอกาสติดลบสูง ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะต้องมีมาตรการเข้ามาดูแล ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคส่งออกได้”

ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3.1% จากเดิม 3.3% สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออก ผลจากสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมูลค่าส่งออกปีนี้น่าจะหดตัวที่ -1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.6% และในกรณีเลวร้ายสุด (worst case) มีโอกาสหดตัวถึง -3.1% หากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนลอตใหม่อีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตแค่ 2.7%
“ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าส่งออกของไทยติดลบประมาณ -5% ทำให้เริ่มกระทบไปยังเซ็กเตอร์อื่น ๆ ทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน โดยคาดว่าไตรมาส 3 จะเป็นจุดต่ำสุดของภาคการส่งออก และช่วงไตรมาส 4 จะเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากการติดลบน้อยลง”

“การจ้างงานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลง และมีโอกาสหดตัวได้ เพราะปกติการหดตัวของภาคส่งออก จะสะท้อนปัญหาการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 1 ปี ซึ่งจะทำให้เห็นผลเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ในแง่ของมาตรการภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็น่าจะเป็นส่วนที่จะประคับประคองเศรษฐกิจได้ แต่ทั้งนี้การที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ช้าออกไป 3 เดือน ก็เป็นความเสี่ยงช่วงปลายปี เพราะโครงการลงทุนใหม่ ๆ ก็อาจจะชะลอไปด้วย”

นายยรรยงกล่าวว่า หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คงจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยภาครัฐอาจจะต้องใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอและเกิดประสิทธิผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับค่าเงินบาท ตั้งแต่ช่วงสิ้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) แข็งค่าขึ้นประมาณ 5% โดยอีไอซีมองทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% ในปี 2562 แต่มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% หากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 3%