‘สากล’ ปรับพอร์ตมุ่งผลิตไบโอมีเทน

สัมภาษณ์พิเศษ : จักรพงส์ สุเมธโชติเมธา

ากประเด็นร้อนหลัง กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ หรือ NGV ประสบปัญหายอดจำหน่ายก๊าซที่ลดลงประกอบกับรัฐบาล ยกเลิก การอุดหนุนราคาก๊าซ NGV ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับราคาน้ำมันดีเซลได้ โดยผู้ประกอบการขอทราบนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลจะสนับสนุน-ส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV ต่อไปหรือไม่ อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการก็ต้องปรับโมเดลรับสถานการณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สากล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ SKE หนึ่งในผู้ให้บริการอัดก๊าซให้รถขนส่งของ ปตท.และผู้ประกอบการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 2 สถานี

ธุรกิจ NGV ของ SKE

บริษัทสากล เอนเนอยี หรือ SKE เป็นหนึ่งในคู่ค้าของ ปตท. โดยเราให้บริการอัดก๊าซให้รถขนส่ง ปตท. SKE มีสัญญาบรรจุก๊าซให้ ปตท.วันละ 520 ตัน จากปริมาณก๊าซทั้งหมด 5,500 ตัน จนถึงปี 2573 โดยสัญญานี้เป็นการการันตีขั้นต่ำว่า ธุรกิจบรรจุก๊าซของเรายังมีเวลาให้บริการอีก 11 ปี

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปตท.และเรายังเป็นผู้ประกอบการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (สถานีหลัก) โดย ปตท.มี 18 สถานี เอกชนมีอีก 4 สถานี ซึ่งเป็นของเรา 2 สถานี นอกจากนั้นก็มีเอกชน 2 รายที่อยู่ในตลาดนี้ ซึ่งทำวันละ 300 ตัน หากรัฐบาลปรับนโยบายไม่ส่งเสริมก๊าซ NGV ต่อไป ธุรกิจนี้ก็จะไม่โต แต่มันก็ยังไม่ตายทันที ดังนั้น เราต้องปรับตัวหันไปทำธุรกิจที่คิดว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่ง SKE กำลังจะเริ่มธุรกิจใหม่

โรงไฟฟ้าแก๊ส CBG

เราประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงธุรกิจตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ SKE เริ่มปรับพอร์ด diversify ธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงลดการพึ่งพิงรายได้หลักจาก ปตท. โดยธุรกิจใหม่ของเราจะมี 2 ธุรกิจ คือ ในเดือนสิงหาคมนี้ SKE กำลังจะรับรู้รายได้จากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าไบโอแมสขนาด 9.9 เมกะวัตต์ (MW) ที่ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบสัญญาแบบ FIT หน่วยละ 4.54 บาท การลงทุนโรงไฟฟ้าดำเนินการในนามบริษัท แม่กระทิง พาวเวอร์ จำกัด ซึ่ง SKE ถือหุ้น 80% อีก 20% เป็นของพันธมิตรท้องถิ่น มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 850 ล้านบาท

ตัวโรงไฟฟ้าใช้วัตถุดิบพืชผลทางการเกษตร 3 ประเภท เป็นซังข้าวโพด ข้าวโพด และไม้สับ วันละ 350 ตัน ตั้งอยู่ที่ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ และให้ความสำคัญกับชุมชนจากพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า 10 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด เราก็ตั้งโต๊ะรับซื้อซังข้าวโพดจากชาวบ้าน นอกเหนือจากรับซื้อวัตถุดิบจากที่อื่น

นอกจากนี้ เรายังเริ่มดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแก๊สไบโอมีเทนอัดจากน้ำเสีย (compressed biomethane gas) หรือก๊าซซีบีจี (CBG) ซึ่งเป็นแก๊สที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากแก๊สชีวภาพ โดยนำน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันนำมาบรรจุลงถัง หรือก๊าซชีวภาพอัด

กระบวนการตรงนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราถือหุ้นใหญ่ใน RBS (บริษัท อาร์อีไบโอฟูเอลส์ จำกัด) เริ่มทำโรงงานนำร่องผลิตแก๊ส CBG มาแล้ว 6 เดือน ที่ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท มีกำลังผลิต CBG 9,000 กิโลกรัม และขายเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีส่วนที่เป็นหน้าปั๊มให้คนมาเติมและขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่

การตลาด CBG

เรามีลูกค้ามากแทบไม่พอจำหน่าย นี่เป็นแค่ตัวอย่าง แต่ผมคิดว่าในอนาคต เราสามารถขยายธุรกิจแก๊ส CBG เพราะคุณสมบัติครบมีค่า COD นำมาหมักเกิดเป็นแก๊ส ซึ่งความยากคือการดูแลรักษา การให้อาหารน้ำเสียเพราะเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต ทีมที่ผมร่วมงานด้วย เขามีประสบการณ์ทำโรงงานไบโอแก๊สมาร่วม 20 ปี ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เช่น ทำให้โรงงานน้ำตาลที่มีวัตถุดิบเป็นโมลาสลักษณะเดียวกันกับโรงงานต่างประเทศ เราจึงมีความเชื่อมั่นร่วมทุนกัน

สำหรับราคาขาย CBG ปัจจุบัน ราคาหน้าโรงงานลูกค้าขาย กก.ละ 18.50 บาท ส่วนราคาหน้าปั๊มขายที่ กก.ละ 15.80 บาท เราแข่งกับก๊าซ LPG ที่ขาย กก.ละ 23-24 บาท ลูกค้ามีกำไรแน่ กก.ละ 5 บาท แต่เราจะผลิตให้เขาพอไหม นั่นสำคัญกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการผลิตแก๊ส CBG ก็คือ เราต้องการพื้นที่มาก ส่วนความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ผมกลับมองว่า แก๊ส CBG เป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ เพราะเราผลิตแก๊สจากน้ำเสียของโรงแป้ง ขบวนการผลิตของเราจะไม่มีน้ำเสียกลับเข้าสู่ระบบนิเวศเลย เป็นเทคโนโลยี sero waste จริง ๆ โรงงานแยกน้ำออกจากแก๊ส ส่วนน้ำจะระเหยไป สิ่งที่ได้กลับมาคือ แก๊สมีเทน 99% ซึ่งเรามีการควบคุมเป็นระบบปิด 100% และผ่านขั้นตอน EIA แล้ว

แหล่งก๊าซน้ำพอง

ผมกำลังทำเซอร์เวย์โรงงานอุตสาหกรรมในอีสานที่สนใจใช้แก๊ส CBG เป็นเชื้อเพลิง วันนี้เราพบว่าบริเวณนี้โรงงานไม่มีทางเลือก เพราะมีเชื้อเพลิงให้โรงงานใช้อยู่ 2 ประเภท คือ ก๊าซ LPG กับน้ำมันเตา แต่ปัจจุบันเราบอกว่า มีทางเลือกให้คุณแล้ว นั่นคือแก๊ส CBG เป็นแก๊สธรรมชาติที่ผลิตได้ และราคาที่ผู้ใช้จะได้อีก 5 บาท ผมมองว่าตลาดนี้น่าสนใจ SKE จะขยายตลาดนี้ต่อไปจากราคาค่าเชื้อเพลิงที่ถูกลง

ดังนั้นกำลังให้ทีมลงไปติดต่อโรงงานเหล่านี้อยากใช้ไหม ลูกค้าจะพิจารณาทุกมิติเพื่อให้ได้ความคุ้มค่าที่สุดในการใช้เชื้อเพลิง ผมคิดว่าเป็นอีกหลักการที่ทุกคนใช้ในการสวิตช์จากเชื้อเพลิงประเภทหนึ่งไปสู่อีกประเภทหนึ่ง และนอกจากนี้ เรายังมีแหล่งก๊าซบนบกในภาคอีสานที่พัฒนามา 10 ปี ถึงวันนี้พร้อมใช้งานแหล่งก๊าซที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นแก๊สธรรมชาติ โดยขอสัมปทานแล้ว

พอร์ต SKE ปี’63


สัดส่วนรายได้ปี 2563 ของ SKE จะมาจากธุรกิจ NGV ที่สัดส่วน 50% การขายไฟฟ้า 40% และรายได้จากการขายก๊าซอุตสาหกรรมอีก 10% แต่เราจะพยายามขยายก๊าซอุตสาหกรรมให้ได้ จากปีที่แล้วเรามีรายได้จาก NGV ประมาณ 340 ล้านบาท หรือรายได้ 100% มาจาก NGV ทั้งหมด ในปี 2562 SKE จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าประมาณ 20 ล้านบาท (5 เดือนที่เหลือของปี 2562) จากประมาณการรายได้ขายไฟฟ้าต่อปีที่ 290 ล้านบาท แต่ในอนาคตเราตั้งใจจะผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 30 MW ในปี 2565 ตอนนี้ได 9.9 MW จึงยังมองหาเพิ่มอีก 20 MW