ภัยแล้งกระหน่ำพื้นที่ปลูกข้าว หวั่น “ประกันรายได้” ไม่ตอบโจทย์ชาวนา

สถานการณ์เอลนิโญ (El Nino) หรือ “ฝนน้อย-น้ำน้อย” เริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศไทยชัดเจนยิ่งขึ้น จากคำประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาให้ฤดูฝนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ปรากฏปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เกือบทั่วประเทศได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าสู่ฤดูแล้งของปี 2563 เลย โดยรายงานปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม เหลืออยู่เพียง 13,017 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 หรือ “น้อยกว่า” ปี 2561 ถึง 9,205 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพียง 60.11 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

ส่วนปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศพบว่าเหลืออยู่เพียง 11,506 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 หรือ “น้อยกว่า” ปี 2561 ถึง 8,244 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่แค่ 51.52 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น เฉพาะเขื่อนหลักที่จะส่งน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยาพบว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 1,063 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11, เขื่อนสิริกิติ์ 636 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 114 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 53 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 รวม 4 เขื่อนเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง 1,865 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ที่สำคัญก็คือ ทั้ง 4 เขื่อนหลักมีน้ำไหลลงอ่างรวมกันแค่วันละ 10 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีเขื่อนที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ “ต่ำกว่า” ร้อยละ 30 เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 14 เขื่อน ในจำนวนนี้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 25 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19, เขื่อนน้ำพุง 29 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19, เขื่อนอุบลรัตน์ -2 หรือร้อยละ 0, เขื่อนลำปาว 453 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 24, เขื่อนลำพระเพลิง 22 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14 และเขื่อนลำนางรอง 24 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 21

ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในประเทศขณะนี้จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่นับพื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นนารอน้ำฝน จะต้องประสบความเสียหายเป็นวงกว้าง จากผลกระทบ “ภัยแล้ง” ที่จะเกิดขึ้นรุนแรงกว่าทุกปี จนล่าสุดสมาคมที่เกี่ยวข้องกับข้าวได้แสดงท่าทีออกมาแล้วว่า ปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศในปีนี้จะลดลง ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศจะต้องขยับราคาขึ้น แต่ปัญหาก็คือ ชาวนาจะไม่ได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น

สารพัดนโยบายสินค้าเกษตร

ดูเหมือนภาครัฐยังไม่ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบภัยแล้งในปี 2562/2563 หลังจากความวุ่นวายในการ “แย่ง” ตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 สิ้นสุดลง โดยมีข้อน่าสังเกตว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในกระทรวงเศรษฐกิจหลักอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการออกชุดนโยบายจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าว แต่ในกระทรวงเหล่านี้ยังมีบรรดารัฐมนตรีช่วยว่าการที่มาจากต่างพรรคการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรฯ มีรัฐมนตรีทั้งหมดถึง 4 คน จาก 4 พรรคการเมือง ถือว่า “มากเป็นประวัติการณ์” ของการเมืองไทยเลยทีเดียว

แน่นอนว่าทุกพรรคการเมืองต่าง “ขาย” นโยบายด้านราคาสินค้าเกษตรในช่วงเลือกตั้งที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเพื่อจะผลักดันราคาข้าวให้สูงกว่าราคาตลาดปกติ “อย่างที่ใช้หาเสียงกับชาวนา” โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอชุดนโยบายประกันรายได้และประกันภัยสินค้าเกษตรให้กับชาวนา ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเสนอนโยบายเดิมที่ใช้ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 นั้นก็คือการให้สินเชื่อชะลอการขายข้าว และการจ่ายเงินชดเชยให้เปล่าเป็นค่าเกี่ยวข้าวเพิ่มขึ้น

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ดูเหมือนจะนำโมเดลระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ในระบบอ้อยและน้ำตาลมาใช้กับข้าว ด้วยการให้โรงสี-ผู้ส่งออกข้าว “แบ่งกำไร” กลับคืนมาให้ชาวนาผ่านทางกองทุนข้าว ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีนายประภัตร โพธสุธน เป็นตัวแทนพรรค นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯเท่านั้นที่มีนโยบายจะให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของราคาปัจจุบัน แต่ไม่มีรายละเอียดในวิธีการที่จะทำให้ราคาข้าวไปถึงเป้าหมายนั้นได้

โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่าง “ขายฝัน” ชาวนาไปแล้วว่า ราคาข้าวขาวต้องเกวียนละ 10,000 บาท กับราคาข้าวหอมมะลิเกวียนละ 15,000 บาท จนกลายเป็นความหวังของชาวนาทั้งประเทศ

ดันประกันรายได้เกษตร

จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกคนในวงการค้าข้าวต่างทราบกันดีว่า “ข้าวขาว 10,000 บาท กับข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท” เป็นราคาข้าวที่ขยับขึ้นไปถึงได้ “ไม่ยากนัก”

จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 แต่ปัญหาก็คือ ผู้กุมนโยบายหลักของสินค้าเกษตรอย่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคพลังประชารัฐ จะทำอย่างไรกับชุดนโยบายประกันราคาและสินเชื่อชะลอการขายข้าว+เงินอุดหนุนค่าเกี่ยวข้าว

ในเมื่อคาดการณ์ผลผลิตข้าวลดลงจากภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งในพื้นที่ชลประทานที่จำต้อง “ประหยัดน้ำ” เพื่อการอุปโภค-บริโภค “มากกว่า” การส่งน้ำเพื่อการเกษตร และปริมาณฝนจะลดน้อยลงจนไม่สามารถทำนาได้ตามปกติ ราคาข้าวเปลือกในประเทศจะพุ่งขึ้นสูง โดยไม่มีความจำเป็นต้องประกันราคาข้าวให้ชาวนาอีก กลับกลายเป็นว่า โจทย์ในเรื่องราคาข้าวเปลือกภายในประเทศจะเปลี่ยนไป ทำอย่างไรให้ชาวนาได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น แทนที่จะเป็นโรงสีข้าว-ผู้ส่งออก

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เดินหน้าเต็มตัวที่จะ “ผลักดัน” โครงการประกันรายได้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐที่จะแถลงต่อรัฐสภา โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด

มีการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึงแนวทางดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยจะนำมาใช้กับพืชเกษตรหลักทุกตัว ทั้งข้าว-มันสำปะหลัง-ข้าวโพด และยางพารา ในขณะที่กรมการค้าภายในเองก็ได้เร่งจัดทำแนวทาง และรายละเอียดการดำเนินโครงการประกันรายได้พืชเกษตร 4 ชนิด ทั้ง “ราคากลาง-ราคาอ้างอิง” ที่จะใช้คำนวณราคาข้าวเปลือก-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ปาล์มน้ำมัน-มันสำปะหลัง ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้พิจารณาทันที

ทว่ายังมีข้อสังเกตแย้งเข้ามาว่า ในความเห็นของกรมการค้าภายใน มีสินค้าเกษตรบางรายการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวเปลือกเจ้า, ข้าวเปลือกเหนียว, ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ “ไม่มีความจำเป็น” ที่จะต้องใช้มาตรการประกันรายได้ เพราะ “แนวโน้มราคาตลาดอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่แล้ว” แต่ถ้าหากราคาตลาดลดลง “รัฐควรเข้าไปช่วยพยุงราคามากกว่า”