สมาคมผู้ผลิตไก่ฯ เผยส่งออกเนื้อไก่ 5 เดือนปี’ 62 โต 15% ตลาดจีนโตพุ่ง 1,462%

แฟ้มภาพ

ส่งออกเนื้อไก่ 5 เดือนแรกปี 62 โตพุ่ง 15% รับอานิสงส์ อหิวาต์หมูดันตลาดจีนโตทะลุ 1,462% สมาคมผู้ส่งออกไก่มั่นใจสงครามการค้าจีนกับสหรัฐนั้น ไม่กระทบส่งออกไก่ไทย คาดทั้งปีเติบโตตามเป้า 9 แสนตัน

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกเนื้อไก่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 เป็นปริมาณ 3.9 แสนตัน เพิ่มขึ้น 15 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกไก่ของไทยขยายตัวสูงขึ้นมาก เป็นเพราะ ปริมาณการส่งออกไปทุกตลาดขยายตัวดีทั้งหมด โดยเฉพาะจีน ที่นำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่ใน 5 เดือนแรก รวม 25,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 1,462%

เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปริมาณส่งออกไปจีนเพียง 1,600 ตัน เพราะไทยได้รับอนุญาตนำเข้าเนื้อไก่จากจีนในเดือนมีนาคม 2561 และ ในปีนี้จีนมีความต้องการนำเข้าเนื้อสัตว์จำนวนมากเพื่อทดแทนปริมาณเนื้อหมูในประเทศจีนที่ลดลงจากโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยเป็นปริมาณสูงเป็นอันดับ 3

นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกไปจีน ปัจจุบันมีเพียง 7 โรงงานเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจากจีน ดังนั้นหากสามารถเชิญจีนเข้ามาตรวจรับรองโรงงานมากขึ้นก็จะสามารถส่งออกเนื้อไก่ไปจีนได้มากขึ้นตามจำนวนโรงงานที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้น” นายคึกฤทธิ์กล่าว

ขณะที่ การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่ไปประเทศอื่นก็เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะ อียูที่นำเพิ่มขึ้น 8% โดยมีปริมาณการส่งออกไปอียูใน 5 เดือนแรกได้ 138,000 แสนตัน เนื่องจากในต้นปีเป็นช่วงรอยต่อของเรื่อง BREXIT ทำให้ผู้นำเข้าเร่งการนำเข้าเพราะกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

รวมทั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่ต้องเร่งส่งไปอียู เพื่อให้ทันปิดโควต้าในเดือนมิถุนายน จึงมีการคำสั่งซื้อให้เร่งนำเข้าเนื้อไก่เป็นปริมาณมากส่วนปริมาณการส่งออกไปเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้นปริมาณ 16,000 ตันเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อนที่ 10,000 ตัน รวมถึงมาเลเซีย นำเข้าปริมาณ 9,000 ตันเพิ่มขึ้น 60%

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1% โดยมีปริมาณการส่งออก 171,000 แสนตัน

นายคึกฤทธิ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่า ปริมาณการส่งออกทั้งปี 2562 น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ไม่ต่ำกว่า 9 แสนตัน ส่วนมูลค่าการส่งออกอาจจะขยายตัวได้น้อย ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้รายได้จากการส่งออกหายไป

ในช่วงนี้ การผลิตและการบริโภคเนื้อไก่ภายในประเทศถือว่ามีความสมดุล ราคาเนื้อไก่ในประเทศอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งภาวะราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นช่วยให้เกษตรกรเลี้ยงไก่มีกำไร หลังจากปีที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดจากการร่วมมือที่ดีของภาครัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรในอุตสาหกรรมไก่เนื้อที่มุ่งมั่นพัฒนาการผลิตให้มีมาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ภายใต้กระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ดี ตลอดจนความสามารถในการควบคุมคุณภาพ มีการผลิตที่ต่อเนื่องทำให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับตลาด เพื่อให้ไทยยังคงเป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกเนื้อไก่ในระดับโลกเช่นนี้ต่อไป