ประวิทย์ หอรุ่งเรือง ‘มิลล์คอน’ งัด 3 หมัดเด็ด สู้วิกฤตเหล็ก

สัมภาษณ์

ผ่านมาครึ่งปี “อุตสาหกรรมเหล็ก” ยังคงถือว่าอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนแข่งขันอย่างดุเดือดกับคู่แข่งผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อย่างจีน แม้จะมีมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (antidumping : AD) ก็ยังไม่สามารถบรรเทาผลกระทบได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่แผ่วลง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง” รักษาการประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL ถึงทิศทางตลาดเหล็กครึ่งปีหลัง

ปี 2562 ท่ามกลางความหวังว่าจะมีปัจจัยบวกมาช่วยพยุงอุตสาหกรรมเหล็กให้โตได้ 1-2% MILL เดินหน้ากลยุทธ์ปรับตัว 3 ด้าน ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการผลิตเหล็กเกรดพิเศษ วางแผนบริหารจัดการลดต้นทุนค่าพลังงาน และขยายโอกาสลงทุนต่างประเทศ

แนวโน้มครึ่งปีหลังปัจจัยบวก-ลบ

ภาพรวมของตลาดเหล็กสถานการณ์ด้วยซีซั่นยอดขายจะดีในช่วงต้นปี 2-3 เดือนแรก เมื่อมาถึงครึ่งปีหลังจึงค่อนข้างยาก และฤดูฝนมีส่วนทำยอดขายลด นอกจากนี้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนอย่างธุรกิจคอนโดมิเนียมที่เห็นได้ชัด ไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ ๆ กำลังซื้อลดจากหลักพันเหลือเพียงหลักร้อยตัน การก่อสร้างโครงการจากภาครัฐล่าช้า และยังมีเรื่องของค่าเงินบาทเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวและมีผลเรื่องการนำเข้า ด้วยไทยนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งจากเวียดนามและมาเลเซีย โดยเฉพาะเหล็กลวด (wire rod) รวมถึงเหล็กเกรดพิเศษจากเวียดนาม อาจเห็นการซื้อเหล็กเหล่านี้เข้ามาช่วงค่าเงินแข็ง ทุกอย่างจึงเป็นปัจจัยลบที่น่ากังวล

ประเมินว่าปี 2562 นี้ อุตสาหกรรมเหล็กน่าจะโตได้เพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งหากไม่ติดลบก็ถือว่าดีแล้ว และยังคาดว่าจะมีการใช้เหล็กในประเทศเหลือเพียง 15 ล้านตัน จาก 16 ล้านตันเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว ส่วนราคาจะอยู่ที่ 16.50 บาท/กก.

สถานการณ์ทุ่มตลาด

ไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับจีน จึงเป็นกำแพงปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศไว้ แต่เวียดนามกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองในขณะนี้ ด้วยมีสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือไม่มีภาษีนำเข้าเพราะเป็นข้อตกลงการค้าร่วมกันในกลุ่มอาเซียน และในอนาคตเวียดนามจะมีการลงทุนโรงงานเหล็กขึ้นอีกประมาณ 2 โรง จากเดิมมีอยู่กว่า 10 โรง ซึ่งโรงใหม่นี้มีกำลังการผลิตขนาดสูถึง 7 ล้านตัน/ปี ถือว่าไซซ์ใหญ่มาก ยิ่งทำให้ซัพพลายในประเทศเวียดนามล้น จะเกิดปรากฏการณ์นำเข้าเหล็กจากเวียดนามมากขึ้น และท้ายที่สุดจะมีการเข้ามาตั้งโรงงานที่ไทย

เอกชนเตรียมนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางภาครัฐ และเริ่มพบว่าราคานำเข้ากับราคาขายในประเทศ มีความแตกต่างกันพอสมควร แต่สิ่งที่เรายังตรวจสอบไม่ได้คือราคาขายในประเทศเวียดนามเท่าไร สูงกว่าราคาส่งออกหรือไม่ จึงจะทำ AD กับเขาได้

การปรับตัวสู้การแข่งขัน

ผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็กเส้น เหล็กเกรดพิเศษอย่างมิลล์คอนเองยังไปได้ ปัจจัยบวก เพราะมีโครงการการลงทุนในส่วนภาครัฐ และการดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับ โดยเฉพาะกลุ่มงานสาธารณูปโภคช่วยพยุงให้ตลาดเหล็กโตได้อยู่ แต่รายที่จะแข่งขันแบบไม่เหนื่อยมากก็ต้องหันไปตลาดที่มีมูลค่าสูง (high value) ซึ่งมิลล์คอนเองได้เริ่มผลิตเหล็กเกรดพิเศษโดยบริษัทลูกคือ โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด (KMS) มาแล้ว 2 ปี เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายจากคอมเมอร์เชียลโปรดักต์ของมิลล์คอน

แก้เกมลดนำเข้าจากเพื่อนบ้าน

มิลล์คอนยังคงเป้ากำลังการผลิตเหล็กเส้นรวมทั้งหมดปีนี้ไว้ที่ 600,000 ตัน ซึ่งอาจขยับได้ถึง 650,000 ตัน โต 10% จากปีที่แล้ว ยอมรับว่ามีอานิสงส์จากโครงการรัฐที่ขายผ่านตัวแทน และในส่วนของบริษัทลูกอย่าง KMS จะมุ่งผลิตเหล็กเกรดพิเศษขึ้นมาเพื่อลดการนำเข้า ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเหล็กลวด 20,000 ตัน/ปี ในส่วนนี้เป็นเหล็กเกรดพิเศษประมาณ 7,000 ตัน/ปี ป้อนให้กับผู้ประกอบรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ แม้สัดส่วนจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องขยายไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ผลิตยางล้อเพิ่มเติม ดังนั้นตั้งเป้าว่าภายใน 1-2 ปี จะขยับสัดส่วนเหล็กเกรดพิเศษให้มากกว่า 10%

แผนลงทุนในและต่างประเทศ

ในเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐทำคือ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณออกมา ต้องดันงานโครงการก่อสร้างให้เร็วและมากขึ้น ส่วนเอกชนจะต้องปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้วหยุดไม่ได้ ต้องหาวัตถุดิบใหม่ ๆ เทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุน อย่างการหาแหล่งวัตถุดิบ ด้วยเรามีบริษัทในเครือที่นำเศษเหล็กมาหลอม ต้นทุนเศษเหล็กจาก 10 บาทเราก็หามาได้ในราคา 9 บาท มาหลอมเพิ่มมูลค่า โดยให้บริษัทลูกลงทุนเครื่องจักรใหม่ 200 ล้านบาท นำเข้าเหล็กที่มีราคาถูกเพื่อเพิ่มมูลค่ามันได้ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต/ตัน หรือยีลด์ในการผลิต

การลงทุนในประเทศด้านอื่นในปีนี้ โรงงานที่จังหวัดระยองได้จ้างให้บริษัท ไอเจน เอนจิเนียริ่ง จำกัด (IGEN) ลงทุนโซลาร์รูฟท็อปขนาด 2 เมกะวัตต์ ซึ่งในระยะยาว 25 ปี การลงทุนครั้งนี้จะทำให้ลงโรงงานดังกล่าว สามารถประหยัดค่าไฟได้กว่า 40 ล้านบาท และในระยะต่อไปจะลงทุนโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงานอีกแห่ง ที่พระรามสอง 2 เมกะวัตต์เช่นกัน

โอกาสตลาดเมียนมา

ส่วนการลงทุนต่างประเทศ หลังจากที่มิลล์คอนจับมือกับพันธมิตรจากประเทศเมียนมาคือ บริษัท ธิฮา กรุ๊ป เพื่อก่อตั้งบริษัท มิลล์คอน ธิฮา จีอีแอล จำกัด (Millcon Thiha GEL Limited) ตั้งโรงงานผลิตเหล็กรูปพรรณประเภทท่อ สำหรับโครงการก่อสร้างตามคำสั่งลูกค้าเมื่อปี 2559 ในนิคมอุตสาหกรรมทิลาวา เขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมาแล้วนั้น

มิลล์คอนยังมีแผนลงทุนโรงถลุงเหล็กเพิ่มเติมในเมียนมาด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อได้ประเมินสภาพตลาดแล้วเมียนมาคือกลุ่มประเทศที่กำลังเปิดประเทศ และกำลังพัฒนา มีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก และการมีโรงถลุงเหล็กในประเทศทำให้ลดต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นเหล็กต้นน้ำ ซึ่งในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มิลล์คอนได้พยายามหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐ แต่การพิจารณาโรงถลุงเหล็กดังกล่าว ยังไม่สามารถมีหน่วยงานใดพิจารณาเห็นชอบโครงการลงทุนนี้ได้ แม้จะใช้ระยะเวลานาน แต่มิลล์คอนเองจะยังไม่ทิ้งโครงการลงทุนโรงถลุงเหล็กที่เมียนมาอย่างแน่นอน

ตลาดที่เมียนมาเราได้เรียนรู้สภาพตลาดตั้งแต่ลงทุนมาแล้วกว่า 2 ปี พบว่าเมียนมาอุปสรรคของฤดูการขาย ซึ่งในช่วงประมาณเดือน ต.ค.-มี.ค.ของทุกปี จะทำยอดขายได้ระยะเวลาเพียงประมาณ 6 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นอีก 6 เดือนที่เหลือประมาณตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. จะเข้าสู่ฤดูฝนทำให้ยอดขายตก

ดังนั้นมิลล์คอนจำเป็นต้องปรับแผนการขาย การผลิต รวมถึงปรับวัฒนธรรมให้เข้ากับตลาดที่นั่น ทำให้การลงทุนในต่างประเทศนั้น การเรียนรู้ตลาดและวัฒนธรรม สังคม จึงเป็นเรื่องสำคัญ