“สุริยะ” ประเดิมเปิดงานแรก Industry Expo 2019 รับปากช่วย SMEs ดัน EEC ช่วยราคาอ้อย

“สุริยะ” ทำงานวันแรกในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม” ขอเวลาศึกษางานไม่นานพร้อมอุ้ม SMEs หารือคลังช่วยทั้งมาตรการภาษีและเงินทุน ดันโมเดล EEC ไปทุกภาค ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ลงทุนให้ได้ ด้านเงินราคาค่าอ้อย 1,000 บาทขอศึกษาก่อนหวั่นผิด WTO ต้องส่วนเหมืองทองอัครา อยู่ในขั้นศาลยังเปิดเผยไม่ได้ เตรียมหารือ ส.อ.ท. ต้นสิงหาคมนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังพิธีเปิดงาน “Thailand Industry Expo 2019” ว่า วันนี้เป็นวันทำงานวันแรกในฐานะ รมว. นโยบายเร่งด่วน 6 เดือนนี้ จะมุ่งไปเรื่องของการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

โดยเฉพาะภาคเกษตร โดยจะเสนอหารือกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ช่วยทั้งมาตรการภาษีและเงินทุน เช่น เรื่องเครดิตบูโร การลดอุปสรรคในการการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้มีธรรมาภิบาลในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีต้องไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อน หากปรับค่าแรงขึ้นจะเป็นต้นทุนในกระบวนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคปลายทาง

สำหรับโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( EEC) ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีแนวนโยบายที่จะกระจายโครงการลงทุนต่างๆ ไปยังพื้นที่อื่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศ

ขณะที่ความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยสั่งปิดเหมืองทองอัคราของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด จำกัดบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน)นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ

ส่วนการบริหารจัดการเรื่องอ้อยและน้ำตาลนั้น ต้องดูแลให้เหมาะสม ดังนั้นการจะดูแลให้ราคาอ้อยขั้นต้นปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตัน ขอศึกษารายละเอียดก่อน ที่สำคัญต้องไม่ให้ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก(WTO)

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนส.ค.นี้ มีกำหนดการเดินสายพบภาคเอกชนที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อรับฟังความคิดเห็น รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งร่วมกันผลักดันส่งเสริมและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ รมว.อุตสาหกรรม จะเข้าหารือกับสมาชิก ส.อ.ท.นั้น ทางภาคเอกชนเตรียมเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางสนับสนุนการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ

โดยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐว่าต้องมีสัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 50-60% รวมถึงจะเสนอให้มีการสนับสนุนจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม เพื่อต่อยอดและช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี

สำหรับงาน Thailand Industry Expo 2019” ประเทศไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0″ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจ ที่เน้นการสร้างมูลค่า (Value-Based Economy) และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) ซึ่งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ และภาคการค้า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ เป็นการผนึกความร่วมมือหลายภาคส่วนมาร่วมแสดงศักยภาพ ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จํากัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร ประเทศไทย จํากัด บริษัท ฮอนด้า

ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และค่ายรถยนต์ชั้นนำต่าง ๆ ที่มาแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมไทยในยุค 4.0

รวมทั้งยังมีสถาบันการเงินต่างๆ มาร่วมให้บริการภายในงานครั้งนี้ อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย  มานำเสนอแพ็กเกจการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ลดข้อจำกัด หลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้สะดวกต่อการพัฒนาธุรกิจ

คาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 5 วันในปีนี้  17 – 21 กรกฎาคม 2562 จะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 200,000 คน