ประกันไม่ช่วยยกราคาพืชเกษตร TDRIห่วงใช้งบ1.5แสนล.ซื้อใจเกษตรกร

มติชน

นักวิชาการติงนโยบาย “ประกันรายได้”พืชเกษตรทุกตัวปูพรมก่อนเลือกตั้งใหม่ ซื้อใจรากหญ้าก่อนเลือกตั้ง ไม่เหมาะกับทุกสินค้า ด้าน ส.ส่งออกข้าวจี้รัฐแก้บาทแข็ง หลัง 5 เดือนยอดส่งออกข้าวซบเหลือเดือนละ 6 แสนตัน เตรียมปรับลดเป้าหมายส่งออกปี’62 เหลือแค่ 8.5 ล้านตัน

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทราบมาว่าทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าพบกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เพื่อขอทราบข้อมูลและแนวทางดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในอดีตรัฐบาลประชาธิปัตย์นำมาใช้เป็นนโยบายหลัก โดยคาดว่าในครั้งนี้จะมีการนำนโยบายนี้มาใช้ในพืชเกษตรหลักทุกตัว ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม่เว้นแม้แต่ยางพารา

ประเด็นนี้มีข้อสังเกตว่า 1) วิธีการประกันรายได้ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับพืชทุกชนิด เพราะแต่ละชนิดมีลักษณะที่ต่างกัน กล่าวคือ ข้าวเป็นพืชที่มีอายุสั้น ซึ่งปลูกและเก็บเกี่ยวได้หมด มีหลักฐานการเก็บเกี่ยวชัดเจน แต่ยางพาราเป็นไม้ยืนต้น ซึ่งจะค่อย ๆ ทยอยกรีด ซึ่งจะคอนโทรลได้ยาก

2) การประกันรายได้ที่เคยใช้ในอดีตยังมีจุดโหว่หลายประการที่ต้องแก้ไข กล่าวคือ การดำเนินโครงการนี้จะเริ่มจากกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับประกันรายได้ ซึ่งจะจำกัดให้ครัวเรือนละ 15 ไร่

จากนั้นกรมการค้าภายในจะเป็นผู้ออกประกาศราคาอ้างอิงซึ่งจะเฉลี่ยมาจากราคาตลาด โดยเมื่อเกษตรกรนำข้าวไปขายแล้วจำนำราคาตลาดที่แท้จริงที่ได้รับมาหักจากราคาอ้างอิง เพื่อรับชดเชยส่วนต่างจากรัฐบาลโดยผ่าน ธ.ก.ส.คู่สัญญา

แต่จากการดำเนินการพบว่า มีปัญหาเกิดตั้งแต่การขึ้นทะเบียน เช่น เกษตรกรมีที่ดิน 40 ไร่ แต่รัฐบาลจะชดเชยให้ครัวเรือนละ 15 ไร่ ทำให้เกษตรกรไป “แตกครัวเรือนแยกโฉนด” เพื่อนำมารับชดเชยให้ครบ แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดให้ต้องได้รับการรับรองจากท้องถิ่น เพื่อพิสูจน์ทำเกษตรจริง แต่ในทางปฏิบัติ อบต.ก็รับรองให้ทุกคน เพราะกลัวชาวบ้านจะไม่เลือกตั้งเข้ามาอีก ปัญหานี้ทำให้เกิดการ “ทำนาในกระดาษ” และปัญหาผู้เช่าที่ดินทำนาต้องแบ่งค่าชดเชยให้กับเจ้าของที่ดินเพราะต้องอาศัยโฉนด

หรือปัญหาการกำหนดราคาอ้างอิง ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน เพราะกำหนดเป็นรายพื้นที่ ทำให้ราคาอ้างอิงในตลาด จ.เชียงราย ต่ำกว่าราคาอ้างอิงในตลาดกรุงเทพฯ เพราะถูกลดค่าขนส่งและอำนาจในการตัดสินใจขายเป็นของเกษตรกร ซึ่งหากนาย ก ขาย วันนี้มีราคาอ้างอิงสูง จึงได้ชดเชยน้อย แต่นาย ข ขายในวันถัดไป ซึ่งราคาอ้างอิงต่ำกว่า ก็ได้ชดเชยมาก ทำให้นาย ก ไม่พอใจราคาอ้างอิง เป็นต้น

รศ.ดร.นิพนธ์ ประเมินผลจากการดำเนินมาตรการประกันรายได้เบื้องต้นว่าจะทำให้รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณมโหฬาร เนื่องจากรัฐบาลนี้มีเสียงปริ่มน้ำ อาจจะมีอายุการทำงานสั้น ดังนั้น จะโหมประกันรายได้เพื่อซื้อใจเกษตรกรไว้ก่อน ซึ่งหากคำนวณจากพื้นที่เกษตร 50-60 ล้านไร่ แม้จะไม่ประกันรายได้ทั้งหมด แต่ก็จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท และต้องระวังว่าการจ่ายเงินจะยิ่งทำให้เกษตรกรปลูกมากขึ้น
ซึ่งจะมีผลต่อซัพพลายระยะยาว

อย่างไรก็ตาม มองว่าการวางนโยบายข้าวระยะยาวจะไม่เกิดขึ้น เพราะบางโครงการจะใช้เวลานาน รัฐบาลการเมืองจะไม่นิยมทำ เช่น โครงการข้าวครบวงจร รวมไปถึงการยกร่าง พ.ร.บ.ข้าว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีข้อคัดค้านมาก อาจจะมีผลต่อน้ำหนักทางการเมือง

“ที่สำคัญการประกันรายได้เกษตรกร เป็นคนละเรื่องกับการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ดังนั้น โครงการนี้จะไม่สามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรได้แน่นอน 100% ส่วนราคาสินค้าเกษตรก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งการส่งออกข้าว มันสำปะหลัง ยาง รัฐบาลคงไม่สามารถไปยกระดับราคาได้ เว้นแต่จะใช้วิธีการรับจำนำ ซึ่งรัฐคงไม่ทำเพราะใช้เงินจำนวนมากกว่าจำนำข้าวปีละ 27 ล้านตัน หรืออาจจะใช้จำนำยุ้งฉาง และจ่ายค่าขึ้นยุ้งแบบที่พลังประชารัฐทำ”

ต่อประเด็นที่ว่า ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ซัพพลายลดลง และราคาตลาดสูงเกินราคาอ้างอิงจนไม่ต้องจ่ายชดเชยนั้น ยังประเมินไม่ได้ เพราะความร้อนที่เกิดขึ้นช่วงต้นปีมาจากเอลนิโญไม่ใช่แล้ง หลังจากนี้ ต้องดูว่า 1-2 เดือนจากนี้ฝนทิ้งช่วงหรือไม่ หากฝนมาปกติสถานการณ์จะคลี่คลาย

ขณะที่ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2562 ประสบปัญหาบาทแข็ง อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการส่งออกต่อเดือนลดลงเหลือ 600,000 ตัน ซึ่งหากยังทรงอยู่เท่านี้อีก 6 เดือนก็จะส่งออกได้เพียง 3.6 ล้านตัน

รวมกับช่วงครึ่งปีแรกที่ส่งออกได้ราว 4.5-5 ล้านตันเท่ากับว่าปีนี้ไทยจะส่งออกได้เพียง 8.5-9 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยวางไว้ 9.5 ล้านตัน ยกเว้นว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายยอดส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น ก็อาจจะใกล้เคียงกับเป้าหมาย

ส่วนแนวโน้มราคาข้าวที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ภัยแล้งจะทำให้ราคาสูงขึ้นจนรัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรนั้น ยังต้องอาศัยระยะเวลาอีก 1-2 เดือนในการประเมินว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีหรือไม่ ซึ่งทางสมาคมจะลงพื้นที่ประเมินผลผลิตข้าวนาปี 2562/2563 อีกครั้งช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประกาศเป็นนโยบาย ซึ่งหากมีการประกันราคาข้าวเชื่อว่ารัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยส่วนต่างไม่เกินตันละ 3,000 บาท เช่น ราคาเป้าหมาย
การประกันข้าวขาว ตันละ 10,000 บาท เทียบกับราคาข้าวเปลือกแห้ง ตันละ 7,000-8,500 บาท ซึ่งหากใช้ระบบเดียวกับโครงการชะลอยุ้งฉางที่ใช้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็จำกัดรายละ 20-25 ไร่


“การวางตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาจากพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้การดำเนินนโยบายบริหารจัดการสินค้าเกษตรราบรื่น โดยเชื่อว่าทางพรรคจะนำวิธีการประกันราคาสินค้าเกษตรที่เคยใช้ในอดีตมาใช้ตามที่ได้หาเสียงไว้ แต่ขอให้รับฟังความเห็น จากภาคเอกชนผู้มีส่วนร่วมทั้งโรงสี ผู้ส่งออกข้าว และชาวนา เพื่อกำหนดแนวทางและอุดช่องโหว่ที่เคยเป็นปัญหาการดำเนินการในอดีต เช่น การจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกร ต้องทำให้รวดเร็ วเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรเร่งขายผลผลิตออกสู่ตลาด และรัฐบาลต้องวางมาตรการดูแลอุตสาหกรรมข้าวระยะยาวด้วย”