GITแนะเอกชนลุยนวัตกรรม ดันส่งออกอัญมณีพรีเมี่ยม

จีไอที แนะเอกชนใช้โอกาส “บาทแข็ง” นำเข้าเครื่องจักรต่อยอดนวัตกรรม พลิกกลยุทธ์สินค้าพรีเมี่ยมตลาดบน เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล-รุกช่องทางออนไลน์ 

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 5 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 4,605.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.98% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 145,264.11 ล้านบาท ลดลง 9.70% หากหักทองคำซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก

ภาพรวมการส่งออกมีมูลค่า 3,043.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.84% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 96,000.12 ล้านบาท ลดลง 2.51% เป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี เมื่อเดือน มิ.ย. 2562ส่งผลให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนจากกรณีอังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit)

ทั้งนี้ ตลาดที่ขยายตัวติดลบ เช่น ฮ่องกง ตลาดอันดับหนึ่งของไทย ติดลบ 10.56% สหภาพยุโรป ลบ 7.13% ญี่ปุ่น ลบ 11.70% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลบ 26.35% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลบ 77.81% และอื่น ๆ ลบ 2.58% ส่วนสินค้าที่มุ่งกลุ่มตลาดกลางและตลาดล่างได้รับผลกระทบ ขณะที่สินค้าในกลุ่มตลาดบนยังไปได้ดี เพราะกลุ่มนี้ซื้อสินค้าตามความพึงพอใจเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องรักษาการส่งออกไปยังสหรัฐ ยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักไว้ โดยล่าสุดสถานการณ์สงครามการค้ามีแนวโน้มดีขึ้นหลังผู้นำสหรัฐและจีนตกลงจะร่วมกันหาทางออกหลังการประชุมระดับผู้นำจี 20 ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าโลก และต่อการส่งออกในกลุ่มนี้ ทางจีไอทีคาดการณ์ว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น บวก 0.77% โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบนและสินค้าพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเพชรเจียระไนส่งออกดีขึ้น

ส่วนตลาดจีนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพิ่ม 8.80% โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นหลัก ขณะที่อินเดียถือว่าน่าจับตามาก เพราะเพิ่มขึ้นถึง 50.37% จากการส่งออกโลหะเงิน พลอยก้อน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไนที่เพิ่มขึ้น อาเซียน เพิ่ม 19.86% จากการส่งออกเครื่องประดับเทียมไปยังสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นมาก และตะวันออกกลาง เพิ่ม 0.45% จากเดือนก่อนลด 4.98% ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีเช่นเดียวกัน

นางดวงกมล กล่าวว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องปรับตัว โดยมุ่งสินค้าเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มมิลเลนเนียลหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือการรุกตลาดทางออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางที่กำลังเติบโตมากขึ้น และต้องปรับกลยุทธ์การค้า พัฒนาแบรนด์มุ่งไปยังตลาดกลุ่มเป้าหมายตลาดให้มากขึ้น และต้องใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่าในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่เข้ามาปรับใช้ด้านการผลิตหรือนำเข้าวัสดุทดแทนในการผลิตเพื่อการส่งออก

“สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าที่ซื้อตามความพอใจของผู้ใส่ ดังนั้น การผลิตต้องตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก ตลาดหลักยังต้องรักษาฐานการส่งออกไว้ ตลาดใหม่ที่น่าจะออกไปทำมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลางซึ่งสนใจเครื่องเงิน โลหะ เครื่องประดับจากเพชร พลอยสี เป็นที่นิยมมาก


ผู้ส่งออกไทยอาจต้องมองตลาดสินค้ากลุ่มพลอยสีมากขึ้น ส่วนช่องทางที่จะไปได้ง่าย คือ การทำตลาดออนไลน์ เช่น สิงคโปร์ จีน หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น โดยหน่วยงานก็พร้อมสนับสนุนการออกใบรับรองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ โดยจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์มาตรฐาน การรองรับสินค้าไทยไปยังประเทศอื่นมากขึ้น รวมถึงสร้างผู้ค้าใหม่ในจังหวัดที่มีอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อการส่งออกไปในตลาดต่างประเทศด้วย”