“สุริยะ” ขอเวลา 100 วัน เปิดแผนปฎิบัติงานก.อุตฯ เตรียมลงพื้นที่ EEC ภาระกิจแรก จ่อขยายโมเดลไปอีสาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังเดินทางเข้าสักการะพระนารายณ์ พระภูมิ และพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า การกลับมากระทรวงอุตสาหกรรม ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 และครั้งนี้จะหนักที่สุดด้วยอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ อย่าง จีน และสิงคโปร์ เศรษฐกิจตกในรอบ 10 ปี

จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงฯ ได้เห็นยุทธศาสตร์ที่ได้เตรียมรองรับวิกฤติไว้แล้ว ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ทั้งการช่วย SMEs เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สิ่งสำคัญคือการทำยุทธศาสตร์ให้เป็นแผนงานที่ปฏิบัติได้จริง

ดังนั้นจึงขอเวลา 100 วัน เพื่อทำแผนงานให้ชัดเจน และจะพบ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามาช่วยดูภาพรวมทั้งหมดให้ และหารือเรื่องของนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งเรื่องของแผนงาน การนั่งเป็นประธาน คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ. หรือ EEC ชุดเล็ก) ที่ตนต้องนั่งเป็นประธานต่อจากนายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม

“เรื่องการช่วย SMEs เราก็หวังจะให้นิรโทษ SMEs ที่ถูกแบล็คลิส โดยจะเข้าไปหารือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เพราะเขาเข้าไม่ถึงเงินทุนเพราะบางรายเป็นหนี้สูญ เพื่อจะขอให้แบงค์สนับสนุนเรื่องของเงินกองทุนที่เคยค้างอยู่ ทะลอวงท่อออกมาใช้ เพื่อลงมาช่วย SMEs

นอกจากนี้จะต้องดึงให้ SMEs เข้ามาเป็นซัพพรายเชนให้กับภาคอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับโครงการใน EEC ด้วยการกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Local Content) อย่างน้อยให้ได้ 60% หรือสูงที่สุด ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ”

สำหรับแผนงานที่เตรียมวางไว้ ซึ่งจะไม่ทำงานคนเดียว แต่จะทำกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยในต้นเดือน ส.ค. หรือเร็วที่สุดจะหารือ เพื่อรับฟังความคิดเห็น รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งร่วมกันผลักดันส่งเสริมและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย และคาดว่าจะหารือถึงความพร้อมกับเอกชนบางรายที่จะให้มานั่งเป็นทีมที่ปรึกษาด้วยเช่นกัน

และจากประเมินภาพรวมการลงทุนครึ่งปีหลัง ที่ผ่านมาการลงทุนชะงักเพราะ 1.เศรษฐกิจโลก และ 2.หลังการเลือกตั้งนักลงทุนยังคงรอท่าทีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งก็มีความล่าช้า แต่ในที่สุดเมื่อตั้งรัฐบาลได้แล้ว มั่นใจว่าบรรยากาศการลงทุนจะกลับมา จากที่ได้พบปะกับนักลงทุนโดยเฉพาะญี่ปุ่น ยังคงมุ่งเป้าและมองไทยเป็นฐานการลงทุน

สำหรับภารกิจแรก จะลงพื้นที่ EEC ซึ่งโมเดลของ EEC นี้จะต้องขยายไปยังภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะพื้นที่มีความเหลื่อมล้ำ อย่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มงานในภาคอื่นๆด้วย