‘เยี่ยม’ชิงลาออกผู้ว่าฯกยท. เปิดทางปชป.หาคนใหม่แก้ปมราคายางดิ่ง

เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์
“เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์” ยื่นหนังสือลาออกจากรักษาการผู้ว่าการ กยท. มีผล 17 ก.ค.นี้ คาดเปิดทาง “ปชป.” ตั้งผู้ว่าการยางคนใหม่ แก้ปมราคาดิ่ง สานต่อกองทัพไทย-ทัพบก คว้างบฯ 2,000 กว่าล้านบาททำถนนยางพารา 670 เส้นทางทั่วประเทศ งานถนนยางพารา 670 เส้นทางทั่วประเทศ

รายงานข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการ กยท. ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการทุกบอร์ด โดยมีผล 17 ก.ค. นี้ ซึ่งเป็นการลาออกก่อนที่จะสิ้นสุดการต่อวาระ ส.ค. 2562 มีการตั้งข้อสังเกตว่า การลาออกของนายเยี่ยมครั้งนี้เป็นการ “เปิดทาง” ให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่จากพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาดำเนินกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กยท.คนใหม่เพื่อมาแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำลง กก.ละ 10 บาท (ยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ราคา 48 บาท)

โดยก่อนหน้านี้ราคายางพาราเคยขยับขึ้นไปแตะ กก.ละ 60 บาท และลดลงต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดราคาน้ำยางดิบ ณ 12 ก.ค. 2562 อยู่ที่ กก.ละ 45.50 บาทหรือลดลง กก.ละ 7 บาท จาก ราคา ณ 20 มิ.ย. 2562 ที่ กก.ละ 52.50 บาท กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ ครม. เมื่อ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณถึง 2,568,783,400 บาทให้กับกองทัพไทย-กองทัพบก จัดทำโครงการสนับสนุนการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐในการจัดทำถนนยางพารา 670 เส้นทางทั่วประเทศ

ทั้งนี้นายเยี่ยมได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการ กยท.มาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีนับตั้งแต่ 18 เม.ย. 2561 โดยได้รับการแต่งตั้งแทนนายธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ขอลาออกจากการเป็นรักษาการผู้ว่าการ กยท.

นายเยี่ยมถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา โดยเคยดำรงตำแหน่งเศรษฐกร 8 สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCO) ด้วย

โดยในวันสถาปนาการยางแห่งประเทศที่ผ่านมา นายเยี่ยมกล่าวว่า ตลอด 4 ปี กยท.ได้บริหารจัดการยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มุ่งเน้นส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยบูรณาการร่วมกับภาคเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการยางพารา เพื่อให้วงการยางพาราไทยมีความเติบโต ก้าวหน้าและยั่งยืนในทุกมิติ

ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การแปรรูป และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ผลักดันไปสู่ภาคอุตสาหกรรม

มีการยกระดับการผลิตสู่มาตรฐานสากล ได้แก่ GMP/GAP, FSC, มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และแก้ไขปัญหายางพาราในภาพรวมของประเทศให้บรรลุผลสำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง, โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ, การดำเนินงานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และพัฒนาระบบบริหารโรงงานยางพาราทั้ง 6 แห่งของ กยท. ภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 : 2015


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันที่ 19 ก.ค.นี้ คณะกรรมการบริหาร กยท.จะประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการสรรหาผู้ว่าการ กยท.ใหม่ ซึ่งมีกระแสข่าวว่า อาจเสนอให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯคนใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดึงนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ที่ถูกย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับมาทำหน้าที่ผู้ว่าการ กยท.อีกครั้ง เพราะยังมีวาระเหลือจนถึงปีหน้า